จาก CEO ผู้สนใจประวัติศาสตร์ สู่ผลงานหนังสือคดีประวัติศาสตร์

3548 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จาก CEO ผู้สนใจประวัติศาสตร์ สู่ผลงานหนังสือคดีประวัติศาสตร์

ทำไมถึงสนใจและตัดสินใจเขียนหนังสือ ๗๔ ปี คดีสวรรคต

ผมมีพื้นฐานสนใจประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ดำมืดของประเทศไทยมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือเรื่องคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เรื่องที่ 2 คือเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 แต่เนื่องจาก 6 ตุลาคม เพิ่งผ่านไป 40 ปี คนที่อยู่ในยุคนั้น ยังมีชีวิตอยู่เยอะ ผมจึงมองว่าความเร่งด่วนที่อยากทำคือคดีสวรรคต ซึ่งคนที่ร่วมสมัยในคดีสวรรคต ก็ต้องอายุประมาณ 85 ปีขึ้นไป ถึงจะมีความทรงจำอยู่ได้ และเรื่องนี้ผมมองว่าถูกขยายความจนเกินความเป็นจริง คือมีการพูดไปต่าง ๆ นานา ๆ ว่า ใครเป็นต้นเหตุทำให้พระบาทสมเด็จรัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ ผมจึงสนใจเรื่องนี้ และอยากทำให้ประวัติศาสตร์ที่ดำมืดเรื่องนี้กระจ่างชัดและตรวจสอบได้

 

มีกระบวนการในการเตรียมเนื้อหา และเขียนต้นฉบับอย่างไร

เริ่มจากการที่เข้าไปคอมเมนต์ในเฟสบุ๊คของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แล้วมีคนมาถาม เราก็ค้นหาคำตอบ ถกกันไปมา และค้นกันหลายเดือน จนคิดว่าสิ่งที่เราค้นมา น่าจะเรียบเรียงและลำดับให้ถูกต้อง ให้คนที่เข้ามาอ่านจับประเด็นได้ ก็เริ่มอาศัยเฟสบุ๊คของตัวเองโพสต์เรื่องคดีสวรรคตตั้งแต่ปี 2560 คือหลังจากที่พระบาสมเด็จรัชกาลที่ 9 ท่านสวรรคต โดยโพสต์ทุกวันที่ 9 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ก็น่าจะประมาณ 40 กว่าโพสต์ คือใช้การโพสต์เฟสบุ๊คเป็นการฝึกเขียนฝึกลำดับฝึกฝนจากตรงนี้


การเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ มีความยาก ง่าย หรือมีความท้าทายอย่างไร

ต้นฉบับหรือข้อมูลต่าง ๆ ก็มีการลงไว้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น คำตัดสินของศาล การให้การของพยานแต่ละคน แต่ส่วนที่เป็นส่วนสำคัญในหนังสือของผมก็คือนิติวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน สมัยนั้นก็ใช้วิทยาศาสตร์กับ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 เรื่องการพิสูจน์พระแสงปืนว่าใช่อาวุธที่ทำให้ท่านสวรรคตหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเคมี เราก็ใช้ความรู้เคมีที่เราเรียนมา และผมก็ทำงานด้านนี้มา 36 ปี ก็ไปค้นดูเอกสารของต่างประเทศ รวมถึงวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาปริญญาโทในเมืองไทยเขาทำเรื่องนี้ด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นข้อเท็จจริงของเดิม 30 ความก้าวหน้าทางวิทยศาสตร์ 70 เปอร์เซ็นต์

 

ผมคิดว่าถ้าเราทำเรื่องอะไร แล้วเราตั้งธงว่าเรื่องนี้ต้องจบแบบนี้ มันจะทำให้เวลาเขียนเราจะมีอคติกับข้อมูลที่ไม่ตรงใจเรา แต่ถ้าตั้งไว้ว่า เอาตามข้อเท็จจริง มันจะไปทางไหน ให้ตัวแก่นแท้ ข้อเท็จจริงเป็นตัวกำหนด เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีความหนักใจ บางครั้งบางตอนอาจทำให้เราไขว้เขวเดินหลงออกมาบ้าง แต่สุดท้ายเราก็กลับเข้ามาสู่เส้นทางที่เราถือว่าตรวจสอบกันหลาย ๆ ด้านแล้วตรงกัน
 
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บอกเล่า จะเจอมากจากแต่ละครอบครัวว่าบรรพบุรุษเล่ากันมาแบบนั้นแบบนี้ ในตระกูลต่าง ๆ เราฟังได้ แต่การที่จะตัดสินใจ ว่าใช่อย่างนั้นไหม ต้องดูบริบทอื่น ๆ ประกอบด้วย
 
เสียงตอบรับจากผู้อ่านถึงหนังสือ ๗๔ ปี คดีสวรรคต เล่มนี้

ต้องบอกว่า 3,000 เล่มที่พิมพ์ออกมา เกือบหมดแล้ว ที่เหลือผมต้องเก็บไว้ 50 - 60 เล่ม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนที่สอง ที่ผมดีใจ คือ ภาคสังคมต่าง ๆ มีการตื่นตัว ผมเชื่อว่ากระแสที่ผมจุดขึ้นในปีที่แล้ว ปัจจุบันผมทราบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตออกตามมาอีก 3 – 4 เล่ม และในอนาคตนี้ก็อาจออกมาเพิ่มขึ้น สิ่งที่ผมดีใจก็คือสังคมให้ความสนใจในเรื่องนี้ ในเฟสบุ๊คผมมีคนเข้ามาติดตามจนเพื่อนเต็ม ส่วนแอนนิเมชั่นที่ผมทำขึ้นมา 3 ชุด ก็มีคนเข้าไปดูถึง 3 ล้านคน ประเด็นที่ผมดีใจก็คือมีคนส่งข้อความมาหาผม มาเป็นจิตอาสา ช่วยค้นคว้า ช่วยพิมพ์เอกสาร ช่วยทำตารางให้ โดยที่ผมยังไม่ทราบเลยว่าตัวจริงเขาเป็นใคร และมีทายาทของฝ่ายที่สูญเสียเข้ามาช่วยเหลือ นั่นคือพลังของสังคมที่สำคัญมากครับ
 


หนังสือเล่มนี้สร้างคุณค่าให้คุณกังวาฬอย่างไรบ้าง

จริง ๆ ตั้งความมุ่งหมายไว้ 3 เรื่อง ก่อนที่อำลาจากโลกนี้ไป เรื่องที่หนึ่ง คือทำหนังสือเรื่องคดีสวรรคตให้เสร็จ เรื่องที่สอง เรื่องที่สามค่อยว่ากัน ปรากฏว่าเราทำสำเร็จ และผลตอบรับค่อนข้างดี ประเด็นที่สำคัญคือ หนึ่งอยากให้ประชาชนคนไทยเข้าใจคดีสวรรคตในแง่ของนิติวิทยาศาสตร์ ในแง่คิดวิเคราะห์เป็น แต่ประเด็นที่สองที่เกินความคาดหมายคือการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งและคืนความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ ซึ่งในเมืองไทยกฎหมายเปิดช่องนะครับ สมัยก่อนพูดง่าย ๆ ว่า ไม่มีทางที่จะรื้อฟื้นคดีอาญาที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้วขึ้นมาพิจารณาได้ แต่ปี 2526 อดีตนายก เปรม ติณสูลานนท์ มีการออกพระราชบัญญัติไว้ สามารถรื้อฟื้นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ความคาดหวังของผมคือรื้อฟื้นคดีนี้พิจารณาใหม่

 
แนะนำถึงคนที่กำลังอยากเขียน หรือยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเอง

ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พอจะพิมพ์แล้วเอา 40 ตอนมาเรียงกันแล้วพิมพ์ คุณต้องลำดับเรื่องใหม่ ตอนที่เขียนเฟสบุ๊คแต่ละตอนมีประเด็นแล้วจบในตัว แต่พอทำเป็นหนังสือเล่ม

1. ต้องเรียงลำดับใหม่

2. บางเรื่องต้องเล่ามุมมองใหม่ เหมือนที่ อัลเบอร์ต ไอน์สไตล์ กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายสิ่งใดให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย นั่นหมายความว่าตัวคุณเองยังไม่เข้าใจมันดีพอ”

เช่นกันผมคิดว่าเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน คนที่เขียนที่จะทำได้ดี คือทำให้มันเข้าใจได้ง่าย อันนี้เป็นจุดสำคัญ ถ้าคนเข้าใจยาก เขาจะไม่ตามต่อ คำแนะนำก็คือ เขียนยังไง ให้คนเข้าใจได้ง่าย

และโดยส่วนตัวของผม ผมจะหาข้อมูลตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคิดให้มาก เพื่อถ่วงดุลความคิด และผมมักคิดแทนคนอ่านว่าถ้าเขาคิดต่าง เขาจะแย้งยังไง แล้วเราจะนำคำตอบตรงนั้นมาใส่ในเนื้อหาเรา
 

ผมรู้สึกยินดีในความเห็นต่างและการโต้แย้งนะครับ เพราะจากการโต้แย้ง คุยกันไปจนตกผลึกและเห็นตรงกัน ตรงนี้จะมีคุณค่ามาก อยากเรียนว่า คนที่อยากเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ มันจะมีคนที่เห็นต่างกับคุณ ผมคิดว่าความเห็นต่างนั้นมีคุณค่ากับเรา เพราะถ้าเราทำให้คนที่เห็นต่าง เข้าใจในสิ่งที่เราเขียน อันนั้นคือสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จสูงสุดนะครับ เป็นประกาศนียบัตรที่สำคัญ
 
 

เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้ามจริงหรือ ?

เมื่อผมจะทำหนังสือเล่มนี้ ก็มีคนห้ามว่า มันยังไม่เหมาะสม มันยังไม่ถึงเวลาอันควร ระวังนะ... แต่...ตั้งแต่ผมทำมาจนปัจจุบัน ผมมีเสรีภาพทางความคิดเสมอ ไม่มีอันตรายใด ๆ อย่างที่คนเป็นห่วง ซึ่งสิ่งที่เป็นเกราะคุ้มกันผมก็คือ ความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ และความเป็นวิชาการ อย่าไปประณาม อย่าไปต่อว่าก่นด่าใคร แต่ทำด้วยความเป็นวิชาการ ตรง ๆ ซื่อ ๆ ผมมีคติว่า เราจะกล่าวหาใครหรือจะต่อว่าใครว่าไม่ยุติธรรม จุดเริ่มคือต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่เรากล่าวหาก่อน อันนี้คือจุดสำคัญ ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่ต่างจากคนอื่นเลย


ส่วนที่เราจะเขียนยังไงไม่ให้โดนตำหนิ ผมมองว่ากฎหมายในเมืองไทยก็ยังเปิดโอกาสให้เรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนะครับ ดูหนังสือคดีสวรรคตออกมาตั้งหลายเล่ม ก็ไม่ได้ถูกปิดกั้นอะไรเลย เพราะฉะนั้นบางทีความคิดของเราเอง มันเป็นกำแพงปิดกั้นตัวเราไม่ให้ทำ ถ้าเราทะลายกำแพงในใจเราออกไปได้ เราก็จะเขียนได้ ผมเชื่อว่าความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจเป็นเกราะกำบังเราได้ดีที่สุด

 


ฝากถึงผู้อ่าน

ถ้าคุณสนใจเรื่องคดีสวรรคต สิ่งที่ดีที่สุดน่าจะเป็นคำตอบ หลายคนถามว่าไม่ต้องเยิ่นเย้อ บอกมาเลยว่าใครทำ จริง ๆ คุณต้องเริ่มจากกระบวนการพิจารณาตามลำดับขั้นตอน ไล่อ่านไปเรื่อย ๆ จนพบบทสรุป ไม่ใช่เริ่มจากบทสรุปก่อน แต่เมื่อบทสรุปไม่ตรงกับใจคุณ คุณก็จะละเลยข้อมูลที่เราอุตส่าห์ทำมาตั้งแต่ต้น

 
เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่า ต้องศึกษา อย่าใจร้อน อ่านแล้ว ควรหยุด คิดวิเคราะห์ตามไปด้วย ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การคิดวิเคราะห์ ถ้าเรามีทักษะเรื่องนี้ ทุกเรื่องในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นด้านไหนก็ตาม คุณก็จะมีระบบคิดที่ถูกต้อง แล้วคุณจะแยกออกว่า เรื่องไหนคือเรื่องจริง เรื่องไหนคือเรื่องเท็จ เรื่องไหนคือเรื่องที่คนสร้างต่อเติมขึ้นมา ซึ่งหนังสือเล่มนี้คือระบบความคิดอันหนึ่งที่ผมสะสมประสบการณ์ขึ้นมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้