926 จำนวนผู้เข้าชม |
อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์ เป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ มากว่า 15 ปี และเป็นผู้ทรงภูมิอีกท่านหนึ่ง ที่ติดต่อเข้ามาที่สำนักพิมพ์วิช ด้วยเห็นว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี ควรเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สามารถนำไปใช้เป็นคัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้
ที่มาที่ไปของ อ.วีรปรัชญ์ ก่อนที่จะมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเอง จนติดอันดับหนังสือขายดี หมวดบริหารธุรกิจของซีเอ็ด (ทั้งที่เป็นผลงานเล่มแรก)
เดิมผมเป็นผู้บริหารในบริษัทเอกชน แล้วมีความตั้งใจอยากเป็นวิทยากร อยากเป็นที่ปรึกษา ก็เป็นมาได้กว่า 15 ปีแล้ว เพราะรู้สึกว่าการทำงานเอกชนมันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งเราอยากจะใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ให้มากที่สุด ก็เลยคิดว่าแนวทางที่เราชอบก็คือการสอนและการให้คำปรึกษา
ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าพอได้ให้คำปรึกษาแล้ว ทุกคนรู้สึกว่าได้ประโยชน์แล้วก็ทำให้ธุรกิจเขาดีขึ้น ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราทำประโยชน์ได้ เพราะเรามีข้อมูล มีองค์ความรู้จากการที่เราศึกษามาตั้งแต่อดีต เห็นปัญหา อุปสรรคเยอะแยะมากมายสำหรับผู้ประกอบการ และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นแนวทางเห็นหลักการบริหารที่ดี ที่ผ่านมาโดยเฉพาะวิกฤติ Covid-19 หรือ Digital Disruption ก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายถึงกับไปไม่เป็นเลย จึงคิดว่าอยากจะทำหนังสือสักเล่มเพื่อให้ผู้ประกอบการอ่าน
เพราะการที่ผมเป็นที่ปรึกษา ก็มีข้อจำกัดในการไปพบผู้ประกอบการเหมือนกัน เพราะไม่มีเวลาไปพบได้ทุกราย จึงตัดสินใจนำความรู้นี้มาเขียนหนังสือ แล้วก็ให้วิธีการให้ Know How ให้ How To ในการที่ไปทำต่อ
และจากการที่เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก ก็รู้สึกติดใจว่า อ่านหนังสือแล้วมันไปไม่สุด ก็พยายามรวบรวมเรียบเรียงต่าง ๆ ว่าถ้าเป็นเครื่องมือเหล่านี้ เป็นระบบบริหารแบบนี้ จะต้องทำยังไง จะต้องมีเครื่องมืออะไร มีวิธีการยังไง มีแบบฟอร์มอะไร มีกระบวนการำงานอย่างไร ตั้งใจเรียบเรียงมาระยะหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่าเราต้องออกหนังสือได้แล้ว ก็เลยพยายามโทรหาสำนักพิมพ์ ก็มาพบกับสำนักพิมพ์วิช นี่แหละ ที่ให้คำแนะนำได้ตรงประเด็น ก็เอาข้อมูลทั้งหมดมาให้สำนักพิมพ์วิชดูว่า สิ่งเหล่านี้ผมอยากเขียนหนังสือ ซึ่งจริง ๆ แล้ว แรก ๆ คือเราไม่รู้จะเรียบเรียงยังไง เพราะข้อมูลเยอะมาก ยังเรียบเรียงไม่ถูก
ก็เป็นไปตามคุณสมบัติที่เคยบอกไว้ว่า คนที่จะลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ คืออ่านหนังสือของคนอื่นแล้วมีความรู้สึกว่าเราเขียนได้เคลียร์กว่า เพราะว่าอยู่ในวงการที่ปรึกษามากว่า 15 ปี เห็นคน เห็นรูปแบบมากหลายรูปแบบ จนมาสู่การเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้อ่าน อาจารย์ตั้งหลักในการเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างไร
ก็พยายามศึกษาดูว่าหนังสือเขาเขียนกันอย่างไรบ้าง แล้วมาตั้งหลักว่าเราควรจะเก็บรวบรวมข้อมูลอะไรบ้าง และพยายามโทรหาสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็ไม่มีใครให้คำแนะนำได้ดี จนมาเจอสำนักพิมพ์วิช ก็ยกเอกสารมาให้ช่วยดูว่าผมจะเขียนได้ไหมแบบนี้ หลังจากที่คุยกันแล้วก็รู้สึกว่าสำนักพิมพ์วิชให้คำแนะนำดี จึงกลับไปรวบรวมข้อมูลทั้งหมด แล้วก็เริ่มต้นเขียน ด้วยความตั้งใจที่อยากเขียนจริง ๆ
คราวนี้อาจารย์ก็มาสู่การตกผลึกองค์ความรู้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น อุปสรรคอีกอย่างคือ ณ ตอนนั้นที่เขียน อาจารย์มีคิวงานการเป็นที่ปรึกษาแน่นมากไม่มีเวลาเลย อาจารย์บริหารอย่างไร ให้ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้
ด้วยการที่เราเป็นที่ปรึกษาเราก็สอนระเบียบวินัยให้กับผู้ประกอบการให้กับพนักงาน เราก็ต้องมาสร้างระเบียบวินัยของเรา ผมก็ให้เวลาวันละ 1 – 2 ชั่วโมง ก็พยายามแบ่งเวลาให้ชัดเจน ถือว่าหนักพอสมควร เพราะฉะนั้นการที่เรามีวินัยอย่างชัดเจน ก็จะทำให้เราสามารถฝ่าฟันไปได้ ประกอบกับที่ผ่านมาอ่านหนังสือเยอะมาก และมีความฝันว่าวันหนึ่งอยากจะเป็นนักเขียน อยากเขียนหนังสือ เป็นความฝันของคนรักหนังสือ ที่อยากมีชื่อเราบนปกหนังสือสักเล่มหนึ่ง
ในการสร้างเหตุวันละ 1 ชั่วโมง ใช้เวลานานไหมกว่าเล่มนี้จะเสร็จสมบูรณ์
ครึ่งปีกว่า ใช้เวลาพอสมควร อย่างที่บอกความรู้มันกระจายมาก กว่าจะเรียบเรียง กว่าจะหาเอกสารหาไฟล์ต่าง ๆ มาเรียบเรียงเป็นรูปเล่ม
หนังสือเล่มนี้มีรูปประกอบและแบบฟอร์มค่อนข้างมาก ตรงนี้อาจารย์ได้ไอเดีย หรือปะมวลมาจากไหน
ตั้งแต่ผมทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนและมาเป็นวิทยากรที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยก็คือว่า เวลาหนังสือที่ให้ความรู้หรือคนให้ความรู้เขาให้กันแต่หลักการ กระบวนการก็น้อย แบบฟอร์มก็น้อย พนักงานหรือผู้ประกอบการก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ยกตัวอย่าง SWOT แล้วเขาจะทำอย่างไรกันต่อ มันต้องเชื่อมโยงกับ Business Model ไหม มันต้องเชื่อมโยงกับกระบวนการไหม
แต่การที่เราเป็นที่ปรึกษาเรารู้ว่า สิ่งเหล่านี้ทำแล้วต้องไปเชื่อมโยงนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเชื่อมโยงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ก็คือเกิดจากประสบการณ์ตรงนี้จริง ๆ ในเรื่องหลักการ หรือเรื่องระบบต่าง ๆ เราก็เอาเรื่องที่เป็นสากลมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เชื่อมโยง ผมพยายามเชื่อมโยงจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แบบฟอร์มที่เกิดขึ้น ก็พยายามรวบรวมจากที่มีคนให้มาบ้างและคิดเองบ้าง จะเห็นว่าบางบทมีถึง 22 แบบฟอร์ม ถามว่าเสียเวลามากไหม ถ้าผู้ประกอบการจะทำตามในหนังสือ ผมว่าเสียเวลามาก แต่จะไม่เสียเวลามากจากปัญหาที่เกิดขึ้น
หนังสือคัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน เล่มนี้มีความแตกต่างจากหนังสือบริหารเล่มอื่นอย่างไร
สิ่งที่แตกต่างคือ การเรียบเรียงจากประสบการณ์จริง ปัญหาจริง หลักการต่าง ๆ ก็มาจากต่างประเทศ แต่ส่วนมากก็เป็นแค่หลักการ แต่ไม่รู้ว่านำไปใช้อย่างไร เล่มนี้คือสิ่งที่ผมได้พิสูจน์แล้วว่า ต้องนำมาใช้แบบนี้นะ ต้องคิดแบบนี้นะ ต้องเชื่อมโยงกันแบบนี้นะ มันถึงจะใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เราต้องการให้ผู้ประกอบการเอาไปใช้ต่อได้ ผู้ประกอบการที่เราไม่ได้ให้คำปรึกษา บางทีเขาก็หาไม่เจอว่าเขาจะหาจากไหน ถ้าเขาอ่านหนังสือเล่มนี้เขาอาจจะได้เปิดโลกกว้างขึ้น
อยากให้อาจารย์ฝากถึงว่าที่นักเขียนที่มีความฝันเหมือนอาจารย์ ที่อยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองแบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
อันดับแรกเลย เราต้องมีความรักที่อยากจะเขียนก่อน ข้อมูลที่เรามีอยู่ และหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากสำนักพิมพ์แล้ว เราก็มาเรียบเรียงตามที่ได้รับคำปรึกษามา เพราะจริง ๆ แล้ว การที่เราไม่เคยเขียน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเขียนได้เลย อันนี้จำเป็นมากที่เราต้องมีที่ปรึกษา ผมถึงบอกว่าผมหาที่ปรึกษามาหลายที่ ผมก็มาถูกใจที่สำนักพิมพ์วิช เพราะให้คำปรึกษาที่ดี ว่าเราต้องเขียนอย่างไร
สรุปอันดับแรกต้องมีความอยากก่อน อันดับที่สองต้องมีข้อมูล มีสิ่งที่อยากไปแก้ปัญหาให้กับใคร ใครคือกลุ่มลูกค้า ใครคือกลุ่มคนที่จะอ่าน ใครคือกลุ่มเป้าหมายเรา เราถึงจะให้ได้ถูกกลุ่ม แล้วก็หาที่ปรึกษาดี ๆ ในการที่จะช่วยกันผลิตหนังสือ
ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์วิช ที่ถ้าไม่ได้สำนักพิมพ์วิช หนังสือผมคงไม่ได้ติดอันดับหนังสือขายดีหมวดบริหารธุรกิจของซีเอ็ด คือเกินเป้าหมาย ผมคิดว่าแค่เราขายได้ มีคนอ่าน ผมก็พอใจแล้ว ต้องขอบคุณทางสำนักพิมพ์วิชมาก
จากที่เคยคุยกันว่าหนังสือเป็นเพียงแค่ด่านแรก หนังสือจะเป็นนามบัตรที่มีชีวิตต่อยอดไปถึงงานอื่น ๆ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ก็มีการ Add Friends กันเยอะพอสมควร มีการขอให้ไปบรรยาย ขอให้ไปสอน ก็ยินดีครับ อยากให้คนได้อ่านและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือผมไม่ได้เขียนเพื่อให้แนวทาง ผมเขียนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งาน
อยากให้อาจารย์ฝากผลงานหนังสือเล่มนี้กับผู้อ่านที่สนใจ
หนังสือคัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน เล่มนี้ ต้องการให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร และผู้สนใจทุกท่านได้มีความเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่เราต้องชี้นำ และมีกระบวนการ มีเครื่องมือ มีระบบที่ถูกต้อง ที่ชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งผมก็เขียนในทุก ๆ ส่วน ที่เป็นเรื่องของการบริหารเหล่านี้ไว้ให้เพียบพร้อมแล้ว มีทั้งกระบวนการ มีทั้งแนวคิด มีทั้งแบบฟอร์ม มีทั้งตัวอย่าง ไปดาวน์โหลดดูได้เลย ต้องขอบคุณมากที่ให้การสนับสนุนหนังสือเล่มนี้ครับ