973 จำนวนผู้เข้าชม |
21 ตุลาคม 2565 : ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์วิช แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ คู่มือทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำหรับผู้ลงมือทำจริง TRANSFORMER PLAYBOOK ผลงานหนังสือลำดับที่ 4 จากซีรีย์หนังสือชุด Digital Transformation โดยงานนี้ได้รับความรู้จากแขกรับเชิญพิเศษ ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงาน Corporate Strategy and Innovation Division ธนาคารกสิกรไทย และกูรูด้าน Digital Transformation ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล (พจ) ผู้เขียนหนังสือ, ที่ปรึกษา, อาจารย์ และวิทยากร ด้าน Digital Transformation มากว่า 15 ปี มาอัปเดตภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการปรับตัวสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบไว้ได้อย่างน่าสนใจ
ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ กล่าวว่า “เรื่อง Digital Transformation จริง ๆ แล้วคำว่าทรานส์ฟอร์ม เราทุกคน เราเปลี่ยนกันอยู่ทุกวัน ที่ผ่านมากสิกรไทยเราปลูกฝังว่า ต้องให้พนักงานทุกคนรู้ว่า เราตื่นมาต้องทำสิ่งที่ทำอยู่ให้มันดีขึ้นได้อย่างไร ส่วนจะทำสิ่งที่ดีขึ้นด้วยดิจิทัลในยุคนี้ หรือทำสิ่งที่ดีขึ้นด้วยสิ่งอื่น ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ที่เรียกกันว่า Reengineering ประมาณ 30 ปีที่แล้ว เราเป็นเจ้าแรกที่ทำ Mobile Banking ดังนั้น Digital Transformation ของเราคือ มันเกิดมาตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพูดถึง Digital เฟสไหน และเราบอกได้เลยว่าไม่มีสิ้นสุด ยุคหน้าอาจจะไม่ใช่ Digital Transformation แล้ว อาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ ขอให้มันเดินต่อไปได้
การที่กสิกรไทยทรานส์ฟอร์มอยู่ตลอดเวลา เพราะกสิกรไทยเรามีเป้าหมายชัดเจน ว่าต้องการ To Empower Every Customer's Life and Business ทำให้ Customer มีชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น ง่ายขึ้น ดีขึ้น ฉะนั้นเรารู้สึกว่าตื่นมาทุกวัน เราจะทำยังไงให้มันดีขึ้น ง่ายขึ้น ตั้งแต่สมัย Mobile Banking ที่ทุกๆ ธนาคารก็อาจจะมีแอพ แต่มันไม่สะดวกสบาย Layout มันไม่ใช่ เราก็ออกแบบให้มันง่ายขึ้น ทำยังไงให้มันดีขึ้น ง่ายขึ้น ถามว่าได้ลูกค้าเยอะสุดหรือไม่ อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักตั้งแต่วันแรก แต่เราอยากรู้ว่าลูกค้าที่ใช้เรา เขารู้สึกว่าเรายังมีคุณค่าอยู่ไหม เรายังดีขึ้นอยู่ไหม ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดที่ปลูกฝันกันอยู่ทุกวัน ผมจำได้ตอนฉลองลูกค้า K PLUS 10 ล้านคน เราก็ว่ายิ่งใหญ่มาก วันนี้กำลังจะพูดถึงปีหน้าจะ 20 ล้านคนแล้ว
นอกจากนี้กสิกรไทยยังมีการทรานส์ฟอร์มอื่น ๆ ในแง่ของภาคธุรกิจ การทำให้ Supply Chain Financing ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง เรื่อง LG Blockchain เมื่อก่อนหนังสือสัญญาค้ำประกัน เวลาประมูลงานราชการต่าง ๆ ทุกคนต้องเอาหนังสือค้ำประกันไป เป็นเอกสาร ต้องพิสูจน์เอกสารว่าเคยใช้หรือยัง ระบบ Blockchain เราเห็นตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว ก็เห็นว่ามันเวิร์ก มันยืนยันได้เร็ว มีประสิทธิภาพ ก็เป็นหนึ่งในธนาคารแรกที่ทำ แล้วก็สามารถทำให้ภาคธุรกิจ รวมถึงกรมบัญชีกลางที่ร่วมเน็ตเวิร์กกัน สามารถทำธุรกิจ ทำหนังสือค้ำประกัน ประมูลงานราชการต่าง ๆ ยืนยันความถูกต้องทางเอกสาร ยืนยันจำนวนเงินต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้นมันอาจเป็นเทคโนโลยีอะไรก็ได้ แต่วันนั้นเราเห็นว่า Blockchain มันใช้ได้ ก็เอา Blockchain มาใช้กับภาคธุรกิจ
หรือเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เราเห็นเทคโนโลยีการทำ NFT ซึ่งมันเวิร์ก และในเมืองไทยยังไม่มีใครทำในลักษณะของภาพใหญ่ เราก็ร่วมกับสภากาชาดไทย นำภาพวาดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทำเป็น NFT ก็สามารถช่วยสมทบทุนรายได้ให้กับสภากาชาดไทยได้ 200 กว่าล้านบาท ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นอะไรก็ได้ แต่เราเห็นปลายทางว่าทำยังไงให้ลูกค้าเรา หรือองค์กรที่เราดูแลอยู่มีชีวิตง่ายขึ้น ดีขึ้น
ผมเชื่อว่าเรื่องเทคโนโลยี เวลาเราเห็นอุปกรณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น หลายครั้ง ต่อให้เราไม่รู้ว่ามันทำมาอย่างไร แต่เรารู้ว่ามันใช้อย่างไร สองคือเรารู้ว่าให้บริการโดยใคร ซึ่งผมว่าช่องว่างของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องแรก แต่เรื่องให้บริการโดยใคร ขอพูดเกริ่นไว้ ไม่ใช่เฉพาะธนาคารกสิกรไทย เดี๋ยวเราจะเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ปีหน้า ว่าการเข้ามาให้บริการสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล จะมาในรูปแบบที่เรียกว่า ถูกต้องมากขึ้น โดยผู้ให้บริการที่เหมาะสมขึ้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ “เหรียญบุพเพสันนิวาส” เป็นรูปแบบการระดมทุนรูปแบบใหม่ เป็นโปรเจกต์ Finance ที่ออกมาในรูป Token แล้วมี Feature อื่น แล้วไม่ได้เป็นลักษณะของการเก็งกำไรหรือปั่น แต่เป็นการระดมทุนเพื่อให้เกิด Productivity กับระบบเศรษฐกิจจริง ผมจึงบอกว่าเทคโนโลยีคืออะไรส่วนหนึ่ง ผู้ให้บริหารไม่เฉพาะกสิกรไทย หลายธนาคารจะเข้ามา และจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ไปในทิศทางที่เหมาะสม และพาประเทศไทยไปได้ เหรียญปั่น เหรียญอะไรอาจจะยังมีอยู่ แต่ว่าน้ำดีกำลังจะไหลเข้ามาเพิ่ม
ซึ่งหลายครั้งสิ่งเหล่านี้มันพันกับสิ่งที่เรียกว่าเงิน ยกตัวอย่าง เหรียญที่ล้มไปแล้วเหรียญหนึ่ง โปรโตคอลของเขาที่ทำไว้ ถ้าไปดูจริง ๆ แล้ว คนที่เข้าใจการเงินจะเห็นการล่มสลายของการเงินในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาสร้างมาเขาอาจไม่ได้มีความตั้งใจจะให้มันเจ๊ง แต่ถ้าคนเข้าใจการเงินจะรู้ว่ามันไม่ยั่งยืนแต่แรก ดังนั้นเทคโนโลยีไม่พอ มันเป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในบริบทนั้นเพียงพอไหม ถ้าเป็นเรื่องการเงิน คนที่เห็นการขึ้นและลงการล่มสลายมานาน ก็น่าจะทำให้มันไปได้ต่อ
ผมอยากจะบอกว่าเครื่องมือไม่สำคัญเท่ากับเป้าหมาย ทุกองค์กรที่ตั้งเป้าหมายมันจูงใจพอไหม ถ้ามันจูงใจมากพอวิธีการจะมาเอง อย่างเป้าหมายของกสิกร To Empower Every Customer's Life and Business ไม่ใช่ตั้งมาแค่คำสวย แต่เราคุยกันมานาน ถกกันนานมาก และพูดกันทุกครั้ง เวลาทีมงานเสนอโปรเจกต์ใดก็ตาม เราจะไม่พูดก่อนว่าโปรเจกต์นี้เราจะได้กำไรเท่าไร สิ่งแรกที่ตั้งคือ โปรเจกต์นี้ลูกค้าดีขึ้นอย่างไร หรือระบบดีขึ้นอย่างไร แล้วบนความดีที่เราทำให้ระบบกับลูกค้า สุดท้ายแล้วจะเหลือมาก เหลือน้อย หรือไม่เหลือเลย ค่อยเข้ามาเป็นส่วนของธนาคาร เป็นแบบนี้ทุกโปรเจกต์ เราตั้งคำถามนี้ก่อนเสมอ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ กับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ผมว่าใกล้เคียงกันมาก ตั้งแต่หน้าแรกที่เปิดตารางสี่คูณสี่ ลูกค้าใหม่ ลูกค้าเก่า ธุรกิจใหม่ ธุรกิจเก่า อยู่ในภาพที่เราต้องประเมินตลอดเวลา"
ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กล่าวว่า “ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เริ่มเปลี่ยนมาจากยุคที่ 1 คือ นับตั้งแต่ประมานช่วงปี ค.ศ. 2000 เริ่มมี Digital Disruption และการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 (Industry 4.0) เช่น กรณีของ Google และ Facebook ที่มา Disrupt อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาแบบดั้งเดิม หรือ iPod ที่ Disrupt อุตสาหกรรมเพลง ยุคแรกของการทำ Digital Transformation นับจนถึงช่วงก่อนการระบาด โควิด-19 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 หลายองค์ต้องล้มหายตายจากไป หรือ ไม่สามารถคงความยิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อนได้ จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกของหนังสือชุด Digital Transformation In Action ด้วยแนวคิด “ไม่เปลี่ยน ไม่รอด”
ยุคที่ 2 นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020 - 2022 องค์กรทั่วโลกต่างจำเป็นต้องเร่งทำ Digital Transformation ในช่วงการระบาด โควิด-19 ให้เทียบเท่ากับการทำ Digital Transformation ใน 10 ปี ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจควรใช้ประโยชน์จากคลื่นลูกที่สองของ Digital Transformation ในการเพิ่มโอกาสเหล่านี้ให้สูงสุด เพื่อประโยชน์ของตนในทุกกระบวนการของธุรกิจ เพื่อตำแหน่งในการแข่งขันที่ดีขึ้น และเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับองค์กรในระยะยาว
ยุคที่ 3 คือ ปี 2023 เป็นต้นไป คือยุคหลัง Digital Transformation ที่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็นดิจิทัลไม่เพียงพอแล้ว แต่ทุกธุรกิจจะต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างแท้จริงถึงจะอยู่รอดและสร้างความสำเร็จได้ในอนาคตได้”
ยุคหลัง Digital Transformation ในปี 2023 คืออะไร และธุรกิจจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร ?
“จากสถิติ โดย IDC ในปี 2022 คาดว่า 50% ของ GDP จะมาจากสินค้าและบริการที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ทุกองค์กรจึงเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โลก รวมถึงประเทศไทยเอง กำลังเปลี่ยนจากยุค Digital Transformation สู่ ยุค Digital-First เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่มีความสามารถหรือการปรับปรุงทางดิจิทัลที่ช่วยพัฒนาวิถีชีวิตของเราและผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ต้องการ องค์กรของเราจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องเร่งทรานส์ฟอร์ม เพื่อไม่ใช่แค่เปลี่ยนจาก Analog เป็น Digital แต่ต้องทำให้องค์กรเป็น Digital-First
“จากรายงาน Digital Transformation Readiness Report 2021 จัดทำโดย Digital Transformation Academy ที่ได้สำรวจความพร้อมขององค์กรในประเทศไทย พบว่า แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่ในไทยหรือกว่า 95% จะกำลังทำ Digital Transformation แล้ว แต่พบว่า มีองค์กรเพียง 18% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ ในระดับ Harmonizers และ Differentiators
องค์กรส่วนใหญ่มีความพร้อมในระดับ “Adopters” กล่าวคือ องค์กรได้มีการใช้เงินลงทุนในการฝึกอบรมและการศึกษาสำหรับบุคลากร ธุรกิจต่างๆ เริ่มเปลี่ยนกระบวนการทำงานจาก Analog เป็น Digital (Digitization) และตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนกระบวนการทำงานส่วนใหญ่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ (Digitalization) แต่ยังไม่ได้นำดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบทั่วทั้งองค์กร ไม่สามารถกำหนดเทคโนโลยีและขีดความสามารถ (Capability) ที่สำคัญและจำเป็นต่อองค์กร เพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายที่ได้ถูกคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงยังไม่สามารถใช้ดิจิทัลมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ โดยสถิติในปี ค.ศ. 2022 นี้ พบว่าไม่มีความแตกต่างจากปี ค.ศ. 2021 อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ องค์กรที่สามารถประสบความสำเร็จในการทำ Digital Transformation ได้ องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบถึง “วิธีการ“ หรือ “How TO” ในการคิดและออกแบบแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับการเพิ่มงบประมานการลงทุนและค่าใช้จ่ายด้านดิจิทัล เพื่อตอบสนองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยทัศนคติที่ดีสำหรับโลกธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
เริ่มต้นทำ Digital Transformation ด้วยกลยุทธ์ดิจิทัล หรือ Digital Strategy ในที่นี้ หมายถึง กลยุทธ์ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เป็นกลยุทธ์ขององค์กรในยุคดิจิทัล สามารถทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จได้จากการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างจากการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนตามหลักของการทำ Digital Transformation ดังนี้
· EMPHASIZE เริ่มต้น ทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยความเข้าใจ
· ASSESS ประเมิน ความพร้อมขององค์กรก่อนทราส์ฟอร์ม
· DESIGN ออกแบบ Roadmap ในการทรานส์ฟอร์ม
· STRENGTHEN สร้างต้นแบบความสำเร็จ ลงมือทรานส์ฟอร์ม วัดผล เรียนรู้”
หนังสือ คู่มือทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำหรับผู้ลงมือทำจริง TRANSFORMER PLAYBOOK “หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือเชิงทฤษฎี ที่อธิบายหลักการหรือแนวคิดเชิงนามธรรม แต่เป็นหนังสือเชิงปฏิบัติ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้จริงได้ เป็นหนังสือแนวหนังสือแบบฝึกหัด (Practice Book) ประกอบด้วย 10 เครื่องมือเวิร์กชอป ที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นทรานส์ฟอร์มตั้งแต่ก้าวแรก ทีละก้าว ทีละขั้นตอน จนได้แผนกลยุทธ์และแผนงานทรานส์ฟอร์มธุรกิจของคุณ แล้วสามารถนำไปลงมือทำจริง พร้อมยกตัวอย่าง 15 กรณีศึกษา และ 9 สิ่งที่ต้องรู้ ประกอบในแต่ละเวิร์กชอป เพื่อช่วยให้คุณเกิดไอเดียใหม่ ๆ ในสำหรับทางเลือกในการทรานส์ฟอร์มของคุณต่อไป
หนังสือ คู่มือทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำหรับผู้ลงมือทำจริง TRANSFORMER PLAYBOOK จะช่วยแนะแนวทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นก้าวแรก ไปสู่เป้าหมายใหม่ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยให้ระหว่างทางของการทรานส์ฟอร์มของคุณเป็นเรื่องสนุกได้และเหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจผู้ประกอบการ, ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร, ผู้รับผิดชอบ ผู้ดำเนินการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทรานส์ฟอร์มองค์กร ตลอดจนผู้ก่อตั้งธุรกิจและสตาร์ทอัพ”
หนังสือ คู่มือทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำหรับผู้ลงมือทำจริง TRANSFORMER PLAYBOOK เขียนโดยกูรูด้าน Digital Transformation ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล (พจ) จัดพิมพ์รูปเล่มด้วยขนาดพิเศษ เพื่อเป็นคู่มือในการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ความหนาจำนวน 246 หน้า จำหน่ายในราคา 300 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
และพบโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะผู้ที่ซื้อหนังสือ ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จะได้รับส่วนลด 15% จากราคา 300 บาท ลดเหลือ 245 บาท และรับสิทธิ์เข้าร่วมสัมมนา Digital Transformation NEXT.FUTURE.TRENDS 2023 ในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ผ่านทาง Zoom พร้อมรับคำปรึกษาทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากผู้เขียน อาจารย์ ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล