จากพระธรรมวิทยากร สู่การเผยแพร่บทธรรมผ่านงานเขียน กับผลงานเล่มล่าสุด สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ

534 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จากพระธรรมวิทยากร สู่การเผยแพร่บทธรรมผ่านงานเขียน กับผลงานเล่มล่าสุด สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ

บทสัมภาษณ์นี้ สำนักพิมพ์วิชภูมิใจนำเสนออย่างยิ่ง ด้วยนอกจากได้รับเมตตาจากพระมหาอ้าย ธีรปัญโญ ให้สัมภาษณ์ในบทบาทของพระนักเขียนแล้ว เรายังอยากสื่อให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีอาชีพ มีบทบาทหน้าที่อะไร ขอเพียงคุณมีความตั้งใจ มีความปรารถนาดี เพื่อส่วนรวมและผู้อ่าน คุณก็สามารถเป็นนักเขียน และมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองได้

ที่มาที่ไปของหนังสือ สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ

หนังสือ สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ เกิดขึ้นจากการร่วมมือของ สำนักพิมพ์วิช บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่มองเห็นความสำคัญของบทธรรม คำสอน ในพระพุทธศาสนา และได้นิมนต์ให้เขียนธรรมะเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ เยียวยาจิตใจให้กับสาธุชน แล้วก็กระจายความสุขทางปัญญาให้แก่สังคม

ตอนเขียนก็คิดว่า ธรรมะอะไรที่เข้ากับสถานการณ์ เหมาะสมกับชาวบ้าน ก็เลยเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เป็นธรรมะเกี่ยวกับเรื่องเล่า เรื่องราวแบบชาวบ้าน สะท้อนว่าตอนเราเป็นเด็ก เราจำอะไรที่ ครูบาอาจารย์ หรือ คุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่า ตายาย ท่านเล่าให้ฟัง ส่วนมากก็เป็นนิทาน เพราะนิทานฟังแล้วสบาย ๆ ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิด แต่ว่ามันมีข้อคิด ตัวเคล็ดลับจึงอยู่ที่สรุปว่าเรื่องนี้มันสอนอะไร และคิดว่าหนังสือไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป การมีหลักคิดตรงนี้ เขียนออกไปสู่ชาวโลกน่าจะเป็นสิ่งที่ดี


เสียงจากผู้อ่าน ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้

มีหลายฝ่ายที่ได้อ่าน แล้วเขียนมาขอบคุณ เช่น คุณครู เขียนมาว่าได้ซื้อหนังสือจากเซเว่นไป ราคาไม่แพง ซื้ออาหารแล้ว เหลือเงินอยู่ 40 กว่าบาท เหลือบเห็นหนังสือก็ซื้อไป ส่วนตัวอ่านแล้วประทับใจ แต่ที่ได้กำไรมากกว่านั้น คือคุณครูนำเรื่องเล่าในหนังสือไปสอนนักเรียนต่อ ส่วนของพระสงฆ์ท่านก็โทรมาชื่นชม ว่าภาพสวย รวยสาระ หมายความว่าไม่ยัดเยียดให้คนอ่านเกินไป อ่านแล้วนำไปเทศน์ต่อได้ ส่วนโยมที่อ่านส่วนมากคือได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ เพราะเขาเจอความทุกข์ แล้วไม่รู้จะออกจากความทุกข์อย่างไร พออ่านแล้วเขาได้ข้อคิด ที่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ไม่ได้มองว่าธรรมะเป็นเรื่องยาก อ่านแล้วเข้าใจ นำไปใช้ได้เลยทันที หน้าไหนก็ได้ เรื่องไหนก็ได้ อ่านแล้วได้สาระเหมือนกัน


สิ่งที่ผู้อ่านจะได้จากหนังสือ สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ

ได้ธรรมะ ได้สาระ ได้ภาพ เรียกว่า ธรรมะสาระภาพ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่อง อกาลิโก คือ ไม่จำกัดกาล หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นมาแล้ว ผ่านไป 10 ปี 100 ปี มันก็มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง พอเราอ่านธรรมะจากหนังสือ จิตใจมันสงบเย็นมากกว่าเราอ่านจากจอที่เป็นดิจิทัล นี่คือธรรมะ สาระ คือ เขียนอะไรก็ได้ที่เป็นสาระ เป็นการสื่อสารระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านแต่ใช้สาระเป็นตัวกลาง เช่น เราเขียนทั้งหมด 60 กว่าเรื่อง มีคนอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วประทับใจเรื่องนั้น นำไปปรับใช้กับชีวิตได้ นี่คือสาระ นี่คือสิ่งที่อาตมาคิดว่า เราควรทำในสิ่งที่เป็นสาระ เราเสนอต่อสังคมไป เรื่องที่สามคือภาพ บางคนอาจไม่ได้ซื้อหนังสือนี้เพราะว่าสาระหรือเนื้อหาดี แต่ซื้อเพราะภาพ ภาพดี ภาพสวย ภาพหนึ่งภาพสื่อความหมายได้มากมาย อยู่ที่การตีความ
 

เทคนิควิธีการเขียนหนังสือธรรมะให้ประสบความสำเร็จ

อาตมาบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่คิดอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราเรียนรู้ได้ ก็เรียนรู้วิธีการเขียนว่าเป็นยังไง เขียนนั้นเขียนได้ แต่เขียนแล้วให้คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจที่เราเขียน แล้วนำสิ่งที่เราเขียนไปใช้ได้ นั่นคือสิ่งที่ยากที่สุด อาตมาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหลวงปู่ หลวงพ่อ ที่ท่านเป็นครูบาท่านเขียนไว้ ก็นำสิ่งนั้นมารวบรวมให้เป็นตัวตนของเรา คือถ้าจะเขียนหนังสือสักเล่ม ก็ลองถามตัวเองว่า เราชอบอ่านหนังสือแนวไหน แล้วเราจะเขียนแบบใดที่เป็นตัวตนของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปอิงกระแสจากคนอื่น ดูที่ตัวเราก่อน จะสื่อความเป็นตัวตนของเราสู่สังคมอย่างไร

ก่อนหน้าอาตมาเป็นพระธรรมวิทยากรอยู่ที่ประเทศอินเดีย มีบรรยายเยอะมาก กลับมาเมืองไทยก็เกิดความอิ่มในการพูด จึงมาสนใจงานเขียน ก็ใช้พื้นฐานจากการเป็นนักบรรยายมาก่อน ประกอบกับการเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือมาก ความรู้ก็สะสมมาก ก็เรียบเรียงว่าจะนำความรู้ที่เราสะสมไว้มาสู่หนังสือได้อย่างไร จึงหาวิธีเขียนเหมือนกับที่เราอยากอ่าน ต้องฝึก เพราะไม่ใช่อยู่เฉย ๆ จะเขียนได้เลย เช่น ชื่อหนังสือ ไม่ใช่ว่าคิดแล้วจะใช้ได้เลย ต้องผ่านการกลั่นกรอง ลองผิดลองถูก เขียนไปเขียนมา จะตกผลึกเอง

การเขียนหนังสือเป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่ที่ทำไม่ได้ เพราะไม่ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ ดังนั้น การเขียนหนังสือ คือ การให้โอกาสตัวเองไปสู่หนังสือเล่มแรกให้ได้ ถ้ามีเล่มแรกแล้ว เล่มที่ 2 3 4 จะตามมาเอง เพราะเกิดการเรียนรู้แล้ว เมื่อทำสำเร็จแล้ว จะมีความสุขมาก เพราะเราทำด้วยความรัก กว่าจะมาเป็นหนังสือแต่เล่มต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ผู้เขียนว่า จะนำหนังสือที่ตัวเองเขียนไปในทิศทางใด
 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเขียนหนังสือหรือต้องการมีผลงานหนังสือของตัวเอง

1 ปี มี 365 วัน เขียนเดือนละ 5 เรื่องเล่า เรื่องละ 1 หน้ากระดาษ A4 ก็ได้ หรือเขียนทิ้งไว้ใน Facebook ก็ได้ ว่าเราอยากเขียนเรื่องนี้ เราประทับใจเรื่องนี้ เราได้รับแรงบันดาลใจเรื่องนี้ มากหรือน้อยก็เขียนเถอะ เขียนทิ้งไว้ แล้วค่อยรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นกระดาษ A4 แล้วลองนำมาอ่าน แล้วเราจะอัศจรรย์ใจว่าเราเขียนได้อย่างไร เพราะเมื่อเรากลับไปอ่านแล้วจะเห็นร่องรอยของความคิด ร่องรอยของประสบการณ์ที่เราต้องการจะเขียนออกมา เราจะเห็นอยู่ในนั้น ก็ขอให้กำลังใจคนที่อยากมีผลงานหนังสือสักเล่มเป็นของตนเอง คือ ตั้งท่า ตั้งใจ แล้วลงมือทำให้สำเร็จ เจริญพร

วิชหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียน และพระนักเขียน ได้เห็นเส้นทาง เห็นกระบวนการในการเตรียมงานเขียน ดังที่พระมหาอ้ายท่านเมตตาแนะนำไว้ คือ ตั้งท่า ตั้งใจ และลงมือทำ แล้วทุกท่านจะพบกับความสำเร็จแน่นอนค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้