541 จำนวนผู้เข้าชม |
อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ หรือในแวดวงนักเขียน นักอ่าน รู้จักกันดีในนามปากกา คีตา พญาไท เป็นนักเขียนมืออาชีพอีกท่านหนึ่ง ที่ได้วางใจให้สำนักพิมพ์วิช มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานหนังสือชุด ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ ให้เป็นผลงานทรงคุณค่า เป็นอนุสรณ์ เป็นผลงานชิ้นอมตะ และฝากไว้ให้เป็นจดหมายเหตุสำคัญของโลก
จากต้นฉบับหนังสืออัตถชีวประวัติครูเพลงและเรื่องราวของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ถูกเรียบเรียงจัดพิมพ์ออกมาได้ถึง 8 เล่ม และบรรจุอยู่ในกล่องสวยงาม หลายคนเห็นแล้วต้องยอมรับในความเพียรของอาจารย์และถามเป็นเสียงเดียวกันว่าทำได้อย่างไร ? วันนี้วิชได้มีโอกาสขอสัมภาษณ์อาจารย์ไพบูลย์ เพื่อค้นหาคำตอบที่มาของผลงานเขียนทรงคุณค่าชุดนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแนวทาง ในการเขียนผลงานหนังสือให้สำเร็จได้สักเล่มมาฝากกันค่ะ
แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือทรงคุณค่า ๘๒ ปี สุนทราภรณ์อนุสรณ์ฝากไว้
แรงบันดาลใจ เกิดจากการที่เป็นแฟนเพลง ชอบฟัง ชอบร้องเพลงสุนทราภรณ์ และเกิดการต่อยอดสมัยเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส (Senior Executive Vice President) สายอสังหาริมทรัพย์ ของกลุ่ม Premier Group และหนึ่งในความรับผิดชอบคือดูแลศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ จึงได้นำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ไปจัดฟรีคอนเสิร์ตเป็นกิจกรรม On Ground ที่เรียกว่า Music Marketing ที่ได้รับผลสำเร็จเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว และเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่จะต้องคิดสร้างสรรค์ พัฒนา วางแผนงานระยะยาวให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ เช่น การจัดคอนเสิร์ต, เขียนหนังสือ, จัดพิมพ์หนังสือ, จัดตั้งมูลนิธิสุนทราภรณ์, จัดสร้างรูปปั้นครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่สวนลุมพินี ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน
ชุดหนังสือทรงคุณค่า ๘๒ ปี สุนทราภรณ์อนุสรณ์ฝากไว้ เหมาะกับใคร มีจุดเด่น และประโยชน์กับผู้อ่านอย่างไร
หนังสือ Box Set ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ ชุดนี้ เหมาะสำหรับแฟนเพลงวงดนตรีสุนทราภรณ์ ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และรุ่นปัจจุบัน อ่านแล้วจะได้ซาบซึ้ง และอินกับบทเพลง เวลาฟัง เวลาร้อง จะได้อารมณ์มากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะตีความของแต่ละเพลงได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อสืบค้นศึกษาต่อไป
นอกจากจะซื้อไว้อ่านเองแล้ว ยังเหมาะที่จะซื้อเป็นของขวัญ ให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือ คุณพ่อ คุณแม่ หรือ ห้องสมุดโรงเรียน สถาบันการศึกษาเก่าที่เคยร่ำเรียนมา เพื่อช่วยกันสืบสานต่อยอด ผลงานเพลงสุนทราภรณ์ ให้เป็นอมตะตลอดไป
“ชุดหนังสือ ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้
เป็นผลงานที่อยากจะฝากไว้ให้กับเยาวชนรุ่นหลัง
ถ้าไม่มีหนังสือชุดนี้เยาวชนรุ่นหลังจะไม่รู้เลยว่า
วงดนตรีสุนทราภรณ์ มีความเป็นไป เป็นมาอย่างไร”
ด้วยงานหลักและภารกิจหลักที่มีอยู่มากมาย อาจารย์จัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนอย่างไร
ใช้เวลาเขียน ในช่วงเย็น หรือกลางคืน ทำเป็นตารางทำงานทุกวัน หากไม่ได้เขียน ก็จะอ่านหนังสือ ค้นคว้าเพิ่มเติม หรือสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง แล้วพิมพ์ต้นฉบับลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และประชาชาติธุรกิจ แล้วรวมพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม
อาจารย์มีกระบวนการในการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียนและมีการวางแนวทางในการออกแบบหนังสือชุดนี้อย่างไร
หนังสือทั้ง 8 เล่ม มีการค้นคว้า จากหนังสือ ข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับเพลงสุนทราภรณ์ ครูเพลง นักดนตรี นักร้อง ที่แตกต่างกัน เริ่มจาก
เล่มที่ 1 "พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของ สุนทราภรณ์" ค้นคว้าจาก บทเพลง พระเจ้าทั้งห้า คือ 1. บิดา มารดา 2. สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 3. ครู อาจารย์ ผู้บังคับบัญชา 4. ครอบครัว ลูกเมีย 5. ผลงาน บทเพลง นักดนตรี นักร้อง
เล่มที่ 2 "หนังสือ เอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน" เริ่มต้นจากข้อมูล ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหลัก ต่อด้วย ครูเพลง ที่เกี่ยวข้องกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เช่น พระเจนดุริยางค์, ครูนารถ ถาวรบุตร, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ, ครูเวส สุนทรจามร, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ, ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ และ ครูสุรัฐ พุกกะเวส
เล่มที่ 3 "100 เพลงดี 100 ปี เอื้อ สุนทรสนาน" เริ่มจาก สำรวจ คัดเลือก บทเพลงยอดนิยม 100 เพลง จากแฟนเพลง บจก.เมโทรแผ่นเสียง เพลงที่เกี่ยวข้องกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน, เพลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มหาจักรีบรมราชวงศ์, เพลงสถาบันการศึกษา, เพลงที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งคู่กับครูเพลงท่านอื่นๆ เป็นต้น
เล่มที่ 4 "แก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" มีแนวคิดจากเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่าง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล กับ ครูเวส สุนทรสนาน, ครูนารถ ถาวรบุตร, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ บทเพลงที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งร่วมกันกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยแบ่งตามประเภท ของ เนื้อหา เรื่องราว เช่น เพลงปลุกใจ, เพลงสดุดี เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์, สถาบันการศึกษา, เพลงเกี่ยวกับจังหวัดสถานที่ท่องเที่ยว, เพลงเกี่ยวกับคติธรรม เป็นต้น
เล่มที่ 5 "สุรัฐ พุกกะเวส ยอดขุนพลเพลงสุนทราภรณ์" มีแนวคิดจากเรื่องความสัมพันธ์ ของครูสุรัฐ พุกกะเวส กับ ครูเวส สุนทรจามร, ครูสริ ยงยุทธ, ครูธนิต ผลประเสริฐ, ครูเอื้อ สุนทรสนาน และเพลงที่แต่งร่วมกันกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ต่อด้วยเพลงที่เขียนร่วมกับ ครูไสล ไกรเลิศ, ครูสง่า อารัมภีร, ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นต้น
เล่มที่ 6 "ชอุ่ม ปัญจพรรค์ คีตกวีผู้สร้างสรรค์ บทเพลงรักหวาน อันแสนไพเราะ" เริ่มจากประวัติ ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ และเพลงที่แต่งร่วมกันกับ พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร, ครูเวส สุนทรจามร, ครูสริ ยงยุทธ, ครูสมพงษ์ ทิพยะกลิน และเพลงที่แต่งร่วมกันกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นต้น
เล่มที่ 7 "ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ศิลปิน ครูเพลง นักเลง กวี" เริ่มจาก การเล่าประวัติ ของ ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ แบ่งประเภทของเพลงที่แต่ง เช่น เพลงแรกที่แต่ง, เพลงพระราชนิพนธ์, เพลงเทิดพระเกียรติ, เพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ฯลฯ และแบ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่นักร้อง (เรียงตามตัวอักษร ก. – ฮ.) เป็นต้น
เล่มที่ 8 "สุนทรียะ มาร์เก็ตติ้ง กรณีศึกษา เสรีเซ็นเตอร์ กับ สุนทราภรณ์" เล่มนี้เป็นการรวมบทความ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (คุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นคนตั้งชื่อให้) เริ่มจาก ละครเพลง มิวสิคัล เธอเท่านั้น เมื่อฝันที่เป็นจริง แล้วต่อด้วย เรื่องราวด้านการบริหาร ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ด้วยการนำ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ไปแสดงฟรีคอนเสิร์ต ในแบบ Music Marketing เสรีเซ็นเตอร์, คอนเสิร์ตต่าง ๆ, การเขียนหนังสือเล่มต่าง ๆ, เรื่องมูลนิธิสุนทราภรณ์, เรื่องอนุสรณ์สถาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน, เรื่องสุนทราภรณ์สัญจรต่างประเทศ, เรื่องมูลนิธิศิลปินแห่งชาติ และโครงการหนังสือนวมินทราศิราวาทสยามศิลปิน เป็นต้น
สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไร
1. ต้องอ่าน ต้องค้นคว้า รวบรวม หนังสือ เอกสาร ข้อมูล รูปภาพ ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ทั้งจากเว็บไซต์ กูเกิ้ล หรือจากตัวบุคคลที่เชื่อถืออ้างอิงได้
2. ต้องตั้งหลัก ตั้งประเด็น และแนวทางที่จะเขียน ว่าจะเรียงลำดับอย่างไร เช่น ตามระยะเวลา (Time Line), ตามอาวุโส, ตามตัวอักษร (ก.–ฮ.) เป็นต้น
3. ตั้งต้นเขียนตามที่กำหนดหัวข้อเอาไว้ แล้วแก้ไขเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ (อาจจะไม่ 100% ก็ไม่เป็นไร)
4. เรื่องที่จะเขียน ต้องเป็นเรื่องที่ชอบ และอยากเขียน หรือมีความถนัดเป็นพิเศษ
5. มีเวทีให้เผยแพร่ เช่น หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หรือเพจ เพื่อจะรวบรวมเป็นหนังสือในภายหลัง
6. ต้องทำตามที่ สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) แนะนำว่า เขียนทั้ง 3 ช่วง เหมือนกินข้าว วันละ 3 มื้อครับ