978 จำนวนผู้เข้าชม |
พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ คือพระสงฆ์ ที่มีหน้าที่หลายบทบาท และมีศาสนกิจมากมาย ทั้งงานอาจารย์ งานผู้บริหาร งานอบรม งานเผยแผ่ธรรมะ วันนี้เป็นโอกาสดีที่ทุกท่านจะได้อ่านบทสัมภาษณ์พระคุณเจ้า ในฐานะพระนักเขียน ถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ การแบ่งเวลาให้กับงานเขียน และกระบวนการเขียนหนังสือ กับผลงานหนังสือธรรมะดีต่อใจเล่มล่าสุด “อยู่ข้าง ๆ อย่างเข้าใจ”
ทราบว่าปัจจุบันพระคุณเจ้าเป็นอาจารย์ประจำ และเป็นประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรมด้วย อยากให้พระคุณเจ้าเมตตาเล่าถึงศาสนกิจในฐานะที่เป็นอาจารย์ประจำ และเป็นประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรมค่ะ
ในฐานะเป็นอาจารย์และผู้บริหาร ภาระกิจหลักจะมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑. งานวิชาการ อาทิ การสอนนิสิต ดูแลนิสิตที่ลงฝึกปฏิบัติการปรึกษาภาคสนามในสถานที่ฝึกภายนอกองค์กร งานปรึกษานิสิตให้คำแนะนำนิสิตที่รับผิดชอบและได้รับมอบหมาย งานวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสังคม งานบริการวิชาการสังคม เช่น รับบรรยายหรือจัดกิจกรรมนอกสถานที่หรือสถาบันอื่น งานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เช่น กิจกรรมสาธยายพระไตรปิฏก กิจกรรมวันครู เป็นต้น ดูแลและสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ (ป.จพ.) เรียนออนไลน์
๒. งานบริหาร อาทิ ดูแลงานประกันคุณภาพการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ มจร เพื่อรับการตรวจประเมินจากหน่วยงานภายนอก การประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของหน่วยงานที่สังกัด การประชุมโดยเป็นตัวแทนของคณะร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับนโยบายมาขับเคลื่อนหน่วยงานของตนเอง ดำเนินงานและกำกับนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาที่ได้ร้บผิดชอบให้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย
งานประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม มีงานหลักอยู่ ๔ ด้าน คือ
๑. งานคลินิก เป็นงานอาสาสมัครเยี่ยมไข้ ให้กำลังใจผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น คลินิกพระคุณเจ้า ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เป็นต้น และงานให้การปรึกษาออนไลน์ เช่น คลินิกรักษ์ใจออนไลน์ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)
๒. งานอบรม งานอบรมต่าง ๆ ภายนอกและในองค์กร เช่น อบรมนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ หรือบุคคลทั่วไป พระภิกษุสงฆ์ตามที่ได้รับเชิญ
๓. งานพัฒนาบุคลากร จัดอบรมบุคลากรภายในกลุ่มอาสาคิลานธรรม โดยมีวิทยากรถวายความรู้ เช่น รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว อบรมเกี่ยวกับจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ, คุณพจนารถ ซีบังเกิด (โค้ชจิมมี่) อบรมเกี่ยวกับการโค้ชวิถีพุทธ, ผศ.ดร.วนิดา พลเดช อบรมการโค้ชพรสวรรค์วิถีพุทธ, และมีการประชุมสมาชิกคิลานธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การปรึกษาและดูแลจิตใจกันและกัน
๔. งานเผยแผ่และประชาสัมพันธ์ จัดรายการวิทยุ “คิลานะ ธรรมะเพื่อชีวิต” AM 98.5 Khz ทุกวันเสาร์เวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น., เผยแผ่ทางเว็บไซต์ www.gilanadhamma.org , เผยเเผ่ทาง Facebook คิลานธรรม, งานเขียนบทความเผยแผ่ผ่าน Facebook Sutep Thanikkul, และงานอื่น ๆ เช่น แบ่งปันประสบการณ์บนเวทีเสวนาต่าง ๆ
งานกลุ่มอาสาคิลานธรรม คอยกำกับดูแลและมีสมาชิกกลุ่มอาสาคิลานธรรม ดูแลในในส่วนนั้น ๆ ได้ลงกิจกรรมต่าง ๆ ตามวาระที่ได้รับมอบหมายและรับผิดชอบ
แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ “อยู่ข้าง ๆ อย่างเข้าใจ” เล่มนี้มาจากอะไรคะ
ได้รับแรงบันดาลใจจาก รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว (ครูแห่งคิลานธรรม) จากคำที่ว่า “อยากให้พระคุณเจ้าเป็นกระบอกเสียงในเผยแผ่ธรรมะเพื่อสังคมร่มเย็น” จากเดิมที่ทำงานอาสาสมัครในพื้นที่ต่าง ๆ และงานสอนหนังสือ รู้สึกว่าได้ใช้เวลาหมดแล้วจึงไม่ได้เขียน
ภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ เป็นเหตุให้การทำงานภาคสนามต้องระงับไว้ และปรับรูปแบบเป็นการทำงานออนไลน์ ในระหว่างนั้นผู้คนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนและลำบากมาก ติดตามข่าวสารต่าง ๆ รู้สึกเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง จึงปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของการให้กำลังใจตามที่จะทำได้ จึงเริ่มเขียนเพื่อให้กำลังใจผู้คนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์และยากลำบาก
และมีแรงบันดาลใจในการเขียนจาก คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จากงานเขียน "ความสุขของกะทิ" และ คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกาว่า นิ้วกลม ที่มาถวายความรู้แก่พระกลุ่มอาสาคิลานธรรม
แรงบันดาลใจสุดท้าย คือ ผู้คนรอบข้างที่ให้กำลังใจในการเขียน พื้นที่ของการเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาในการเขียนก็ปรากฎ จึงทำให้เขียนบทความเผยแผ่เรื่อยมาจนรวบรวมเป็นเล่ม “อยู่ข้างๆ อย่างเข้าใจ” ที่ปรากฎอยู่นี้
ในฐานะที่พระคุณเจ้ามีศาสนกิจค่อนข้างมาก พระคุณเจ้าจัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนเล่มนี้อย่างไรคะ
เมื่อจิตปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของการให้กำลังใจผู้กำลังประเผชิญกับความทุกข์และยากลำบาก จึงมีฉันทะในการเขียน โดยเริ่มจากเขียนได้ ๑ บทความต่อสัปดาห์ และค่อย ๆ เพิ่มความถี่ตามเวลาที่มี บางครั้งช่วงงานรุมเร้าก็อาจห่างออกไปเช่นกัน
พระคุณเจ้ามีกระบวนการในการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างไรคะ
แนวทางการเขียนจะเป็นไปเพื่อพัฒนาภายในจิตใจตนเอง ชวนกันพิจารณาใคร่ครวญภายในจิตใจตนเอง หรือเป็นแง่คิดมุมมองเพื่อการพัฒนาภายใน และเป็นประสบการณ์ตรงในการดูแลรักษาหรือเยียวยาจิตใจ การเขียนจึงเป็นแนวพัฒนาและเยียวยาจิตใจตัวเองและผู้คน
โดยมีโครงสร้างการเขียนอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. ประสบการณ์ ทุกเรื่องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่ได้พบได้สัมผัสจริง จากการเรียนการสอน การสนทนา การอ่าน หรือการปฏิบัติจริงในสถานการณ์นั้น ๆ ประสบการณ์ใดที่กระทบใจให้รู้สึกลึกซึ้งจะเก็บประสบการณ์นั้นไว้
๒. การคิดใคร่ครวญ จากประสบการณ์ที่สัมผัสกระทบจิตลึกซึ้ง จากถ้อยคำหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงนำไปใคร่ครวญต่อเนื่อง และคอยสังเกตสิ่งที่ปรากฎในใจจากการใคร่ครวญนั้น
๓. อารมณ์ความรู้สึก จากประสบการณ์และการใคร่ครวญและการสังเกตใจตนเองดังกล่าวมา เมื่อถึงจุดหนึ่งเป็นภาวะที่จิตกลมกล่อมจึงเริ่มร้อยเรียงเป็นถ้อยคำจากการเขียนออกมา
สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไรคะ
ขั้นตอนการ “เขียนได้”
๑. ควรเริ่มจากสิ่งที่อยากเขียน และลงมือเขียนเลย ไม่ต้องคิดว่าจะดีหรือไม่ ขอให้ได้ลองเขียนก่อน ทุกอย่างคือการฝึกฝนและการเรียนรู้
๒. ลองหาแรงบันดาลใจในการเขียนสักอย่างหนึ่ง เช่น เขียนเพื่อเป็นประสบการณ์ในการฝึกฝน หรือเขียนเพื่อให้ใครอ่านสักคน คนที่กำลังทุกข์หรือคนที่มีความหมายต่อเราเพื่อเป็นกำลังใจ เขียนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเขียนเพื่อเป็นอนุสรณ์ของโลกใบนี้ หรืออื่นๆ ตามที่จะเร้าให้ใจเราเขียนได้
ขั้นตอนการ “เขียนเป็น”
๑. อ่านหนังสือจากนักเขียนหลาย ๆ ท่าน หลายแนว อาจพบแนวที่ถูกใจตนเอง เพื่อการพัฒนาการเขียนในแนวที่ชอบและมีความสุขกับการเขียน
๒. เป็นนักสังเกตให้มากขึ้น สังเกตเรื่องราวในชีวิต สังเกตเรื่องราวที่ศึกษาเรียนรู้ สังเกตความคิดและจิตใจตนเองให้มากขึ้น
๓. เขียนบ่อย ๆ และมีความสุขกับการเขียนแต่ละครั้ง ชื่นชมยินดีกับผลงานการเขียนแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการ “เขียนดี”
๑. พัฒนาการเขียนในรูปแบบที่ตัวเองถนัดและมีความสุขกับการเขียนให้มาก
๒. พัฒนาการเขียนในรูปแบบอื่น หรือผสมผสานให้ในรูปแบบเดิมให้มีความหลายรสหลายอารมณ์