1138 จำนวนผู้เข้าชม |
เขียนเพื่ออะไร? สำหรับอาชีพนักเขียนแล้ว แน่นอนว่าพวกเขาใช้ความสามารถทางภาษา ผลิตงานเขียนขึ้นมาเพื่อการดำรงชีพ
แต่มากกว่าเรื่องเงิน งานเขียน ยังให้คุณค่าในมิติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างที่หลายคนอาจไม่ได้คาดคิด อย่างในด้านของการบำบัดเยียวยา ผ่อนคลายความตึงเครียดจากความขัดแย้ง โดยเฉพาะที่เกิดกับคนในครอบครัว
คุณขจรฤทธิ์ รักษา นักเขียนรางวัลศิลปาธร ได้กล่าวถึงงานเขียนที่เป็นเสมือนยาบำบัดอาการที่เกิดจากความขัดแย้งในครอบครัว ใจความตอนหนึ่งว่า
“ใคร ๆ ก็พูดกันว่าป้าผมร่ำรวย ใจดี เรื่องรวยนั้นจริง แต่เรื่องใจดีนั้นไม่ใช่ ป้าเคยขึ้นมาเยี่ยม ให้ผมพาขับรถเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นป้าอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำธุรกิจประสบผลสำเร็จ ซื้อที่ปลูกปาล์มเป็นพันไร่ แต่เวลาไปเที่ยวด้วยกัน ป้าไม่ออกแม้แต่ค่าน้ำสักขวด ข้าวผัดสักจานก็ไม่เลี้ยง แถมยังมาสอนผมอีกว่า
“การที่จะทำธุรกิจให้รวยได้นั้น เราต้องหัดเป็นคนใจดำ”
เป็นคำสอนที่ทำให้ผมเครียดมาก เพราะผมรู้ว่า การเป็นคนใจดำนั้นส่งผลร้ายต่อคนอยู่เคียงข้างอย่างไรบ้าง
หลังจากป้ากลับบ้านไป ผมก็มีอาการป่วยทางจิต คิดแค้นป้ามาก ป้ามีแต่พูดโน่นพูดนี่ แต่ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย ผมจึงเริ่มบำบัดตัวเองด้วยการเอาชีวิตป้ามาจดลงในสมุดบันทึก จดกิริยาท่าทางของป้าไว้ จดคำพูดเด็ด ๆ เอาไว้หลายประโยค รวมทั้งบรรยายพฤติกรรมหน้าเนื้อใจเสือของท่านไว้อย่างละเอียด แล้วผมก็เอามาเขียนเป็นนวนิยายจนจบเล่ม
จากนั้นอาการป่วยของผมก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน ป้าผมได้อ่านงานเขียนของผมบ้างหรือเปล่า”
ไม่มากก็น้อย เราทุกคน ล้วนเคยเผชิญปัญหาความตึงเครียดในครอบครัวที่มาจากเรื่องของนิสัยส่วนตัว ทำให้ไม่ลงรอยกัน เกิดความขัดแย้ง ถึงขั้นเกลียดชัง
แต่เมื่อเราลงมือเขียน การเขียน สามารถแทรกเข้ามาตัดวงจร ไม่ให้ความขัดแย้งเลยเถิดลุกลามจนถึงขั้นแสดงออกต่อกันอย่างรุนแรงได้ และสามารถซ่อมแซมความรู้สึก รวมทั้งเรียกคืนความสุขความสงบกลับสู่หัวใจของเราได้อย่างสมบูรณ์