บันทึกสัญจรสิบวันในไต้หวัน กับข้อมูล เรื่องเล่า และภาพบรรยากาศการท่องเที่ยวที่สวยงาม
หมวดหมู่ : หนังสือ(Book) , 
Share
ไม่มีการเดินทางครั้งใดไม่มีความหมาย การเดินทางในความหมายของผม คือการได้ไปสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวของสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นเรื่องราวระหว่างทางต่างหาก แต่ละสถานที่ก็มีเรื่องราวทั้งสุขและเศร้าคลุกเคล้ากันไปในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ดังนั้นการเดินทางจึงไม่ใช่เพียงแค่ไปให้ถึง ถ่ายรูป เช็คอิน แล้วก็ผ่านไป ไม่อย่างนั้นมันก็คงไม่ได้ให้ความหมายอะไรมากนัก
เราคงไม่สามารถไปเยือนทุกที่บนโลกใบนี้ได้ แม้ว่าเราจะอยากไปแค่ไหนก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ผมอยากบอกเลาการเดินทางของผมในแบบฉบับที่จะพาไปสัมผัสไต้หวันในอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือนำเที่ยว แต่ได้แทรกเอาประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ ของสถานที่นั้นเข้าไปด้วย ผมหวังว่าบันทึกการเดินทางเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวของไต้หวันมากขึ้น เพิ่มเติมจากไกด์บุ๊คที่อาจพาคุณไปสัมผัสไต้หวันมาแล้ว
เอกชัย สุขวัฒนกูล
..........................................
ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน
จากฟอร์โมซาสู่ไต้หวัน
เกาะฟอร์โมซาคือชื่อเดิมของไต้หวัน ห้าร้อยกว่าปีแล้วที่ชาวโปรตุเกสแล่นเรือมาพบเกาะแห่งนี้ และพวกเขาเรียกขานที่นี่ว่า “เกาะฟอร์โมซา” คำว่า “Ilha Formosa” ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า “เกาะที่สวยงาม”
ไต้หวันเคยถูกรุกรานและเข้ามาปกครองจากชาติตะวันตกอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงยุคต้นของการล่าอาณานิคม ทั้งจากกองเรือชาวดัตช์และกองเรือของสเปน จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง จีนจึงเริ่มเข้ามาปกครองและขับไล่ชาวต่างชาติออกไปอย่างจริงจัง ทั้งยังผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยนบนแผ่นดินใหญ่ อีกราวสองร้อยปีต่อมาญี่ปุ่นก็บุกเข้ายึดพื้นที่และเข้าปกครองไต้หวันเรื่อยมา จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงบังคับให้ญี่ปุ่นคืนเกาะไต้หวันกลับสู่จีนอีกครั้งหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของไต้หวันเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 1949 หลังเกิดสงครามกลางเมืองของจีน เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะและเข้ามาครองอำนาจ พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดย เจียง ไคเช็คต้องถอยร่น พร้อมนำสมบัติล้ำค่ามากมายล่องเรือมาตั้งหลักที่ไต้หวัน เพื่อหวังว่าจะกลับไปมีอำนาจเหนือแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง (ปัจจุบันสมบัติล้ำค่าส่วนใหญ่ถูกจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง) และในยุคที่ เหมา เจ๋อตุง เรืองอำนาจ ก็มีชาวจีนมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคนได้อพยพมายังไต้หวัน
คนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยคุ้นชินกับชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวันมากนัก คือ สาธารณรัฐจีน (Republic of China) ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชื่อว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (People Republic of China) แม้ว่าในปัจจุบันไต้หวันจะเป็นรัฐปกครองตนเอง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และพยายามประกาศความเป็นเอกราชเทียบเท่าอารยประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งยึดถือนโยบายจีนเดียว จึงทำให้ไต้หวันยังไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศตามหลักสากล
ในด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าไต้หวันจะมี GDP เทียบเท่าเพียง 4% ของจีน แต่ทว่าความมั่งคั่งแล้ว GDP ต่อประชากรของไต้หวันสูงกว่าจีนถึง 2.5 เท่า (ปี 2019) ส่วนในด้านภูมิศาสตร์ไต้หวันมีขนาดพื้นที่ประมาณ 36,000 ตารางกิโลเมตร นอกจากพื้นที่บนเกาะใหญ่คือเกาะไต้หวันแล้ว ที่รองลงมาจะเป็นหมู่เกาะเผิงหู จินเหมิน และหมาจู่ และยังมีเกาะเล็ก ๆ รายรอบอีกกว่าร้อยเกาะ
ชาวไต้หวันส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวฮั่น ซึ่งอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ต่างจากในอดีตที่มีชนเผ่าพื้นเมืองครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วทั้งเกาะมากกว่า 16 ชนเผ่า ชนเผ่าพื้นเมืองถูกคุกคามและรุกรานมาตั้งแต่ยุคที่ชาติตะวันตกเข้ามาปกครอง จนในปัจจุบันจำนวนชนเผ่าพื้นเมืองเหลือน้อยกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด
จากฟอร์โมซาเป็นไต้หวัน จากชนเผ่าพื้นเมืองเป็นชาวฮั่น จากหมู่บ้านชนเผ่าเป็นอาคารสูง แม้ว่าสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ทว่าเกาะแห่งนี้ก็ยังคงมีความสวยงามในแบบฉบับของตัวเอง ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาค้นหาอยู่เสมอ