“มาเด้อ มาเอาบุญ” ฮีตสิบสอง

คุณสมบัติสินค้า:

จาก ฮีตสิบสอง ภูมิปัญญามรดกอันล้ำค่า สู่หนังสือ “มาเด้อ มาเอาบุญ” ฮีตสิบสอง ผลงานการเขียนโดย บุญจันทร์ ครองยุทธ (พ่อใหญ่จันทร์) ปราชญ์ชาวบ้าน

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำสำนักพิมพ์

     บ้านชีทวน แห่งตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในชุมชนโบราณที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมและสืบทอดอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสานมาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนโบราณแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งที่แน่ชัด ก่อนจะมาเป็น “ชีทวน” เรียกกันว่า “ซีซ่ง” มาก่อน แล้วแผลงมาเป็น   “ซีซ่วน” และกลายมาเป็น “ชีทวน” ตามลำดับดังปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความหมายตามภูมินิเวศที่ลำน้ำชีช่วงนั้นมีการไหลย้อนขึ้น ในปัจจุบัน ชาวชีทวนมีวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพชน แม้เวลาจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา แต่ลูกหลานชาวชีทวนต่างร่วมใจกันสืบสานและอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้คงอยู่กับท้องถิ่นตลอดไป

     ความเชื่อในเรื่องวิญญาณและอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการนับถือพระพุทธศาสนา เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อและความศรัทธาแห่งอีสานวิถี ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะตน เป็นขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณี ๑๒ เดือน หรือ ฮีตสิบสอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบแทนบุญคุณของบรรพบุรุษและพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ได้หล่อเลี้ยงชาวชีทวนให้มีความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์

     นอกจากนี้ ฮีตสิบสอง ยังเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของบ้านชีทวน อย่าง ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ ณ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ เป็นธรรมาสน์สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือนสี่หรือบุญผะเหวด ประเพณีตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ณ ขัวน้อย สะพานแห่งศรัทธา รวมทั้งวัดสำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน เช่น วัดทุ่งศรีวิไล วัดธาตุสวนตาล

     จาก ฮีตสิบสอง ภูมิปัญญามรดกอันล้ำค่า สู่หนังสือ “มาเด้อ มาเอาบุญ” ฮีตสิบสอง ผลงานการเขียนโดย บุญจันทร์ ครองยุทธ (พ่อใหญ่จันทร์) ปราชญ์ชาวบ้านผู้สั่งสมองค์ความรู้ด้านศาสนา ประเพณี และพิธีกรรม จากพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและครูบาอาจารย์ เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากคนในชุมชนให้รับหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในบ้านชีทวน ซึ่ง สำนักพิมพ์วิช ได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมที่แสดงถึงธรรมนูญชีวิตของชาวอีสาน และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของผู้เขียนที่ต้องการสืบสานบุญประเพณี ความศรัทธาและความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อไปยังเยาวชนคนรุ่นหลัง จึงได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถสืบค้นถึงวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของชุมชนบ้านชีทวนต่อไป
 

ด้วยใจแห่งศรัทธาและน้อมเชิดชูในมรดกทางวัฒนธรรม
สำนักพิมพ์วิช
 
--------------------------------------
 
คำนำผู้เขียน
 
     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมอารยธรรมเก่าแก่ล้ำค่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าและแก่นแท้ทางวัฒนธรรมอย่างมีเอกลักษณ์ชัดเจน อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามทรงคุณค่า ผสมผสานกับวิถีชีวิตของผู้คน ความเกื้อกูลมีน้ำใจ การช่วยเหลือแบ่งปัน และความสามัคคีกันของคนในชุมชน ทั้งเรื่องความเชื่อความศรัทธาที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากศาสนา หล่อหลอมรวมกับความเชื่อในคำสั่งสอนของบรรพบุรุษที่มีมาแต่โบราณ ไม่เว้นแม้กระทั่งความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ วิญญาณ และชีวิตหลังความตาย และที่ขาดเสียไม่ได้ คืออาหารพื้นบ้านของคนอีสาน ทั้งหลายเหล่านี้ต่างเป็นเอกลักษณ์สำคัญอันสะท้อนถึงเรื่องราวของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นทั้งสิ้น นับเป็นมนต์เสน่ห์สุดคลาสสิกที่ยังสามารถดึงดูดผู้คนต่างถิ่นให้แวะไปเยือนแล้วประทับใจได้ไม่รู้ลืม
 
     “บุญฮีตสิบสอง” คำว่า ฮีต มาจาก จารีต หมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ส่วน สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง ๑๒ เดือน ฮีตสิบสอง จึงตีความได้ว่า เป็นงานบุญประเพณีของคนอีสานที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนตามรอบปี และจากความหลากหลายทางความเชื่อความศรัทธา ส่งผลทำให้รายละเอียดด้านพิธีกรรมและการยึดถือปฏิบัติของแต่ละชุมชนในภาคอีสานอาจแตกต่างกันไป สิ่งที่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเพียงบุญประเพณีและวิธีปฏิบัติประจำท้องถิ่นที่มีครูบาอาจารย์ได้บอกกล่าวสืบต่อกันมาในชุมชนตำบลชีทวนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงเกี่ยวข้องกับชุมชนอื่นใด หรือไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในชุมชนอื่นของภาคอีสานได้ เจตนาของผู้เขียนที่จัดทำขึ้น เพียงเพื่อจุดประสงค์ต้องการสืบสานบุญประเพณี ความเชื่อความศรัทธาที่บรรพบุรุษได้อบรมสั่งสอนมาแต่โบราณให้เยาวชนคนรุ่นหลัง รวมถึงผู้สนใจได้ศึกษาให้รู้ถึงวิธีจัดงานและพิธีกรรมของการทำบุญประจำท้องถิ่น ที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีความเชื่อว่าเพื่อเป็นการป้องกันเภทภัย ขจัดสิ่งเลวร้ายให้ห่างไกลจากคนในหมู่บ้าน และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ท้ายนี้ ขอน้อมรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง พระคุณของคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ กราบขอบพระคุณพ่อใหญ่อาจารย์ครูมี พ่อใหญ่อาจารย์ลอด ที่ได้กรุณาชี้แนะและถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดนี้ให้ผู้เขียน หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถแทรกซึมเข้าสู่หัวใจของคนรุ่นใหม่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย


บุญจันทร์ ครองยุทธ (พ่อใหญ่จันทร์)
ผู้ร่วมสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี
บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
เขียนเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑, ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (วันมาฆบูชา)

--------------------------------------

สารบัญ


ความเป็นมาของประเพณีฮีตสิบสอง                                                                              

- การแห่พระธรรมเทโว

- งานเลี้ยงเจ้าปู่คู่บ้านคู่เมือง (ปู่ตา)

- งานปิดทองหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ

- การตั้งโต๊ะหมู่บูชา       

- การผูกสายสิญจน์กับฐานพระพุทธรูป

- การตั้งพระพุทธรูป

- การปูอาสนะ

- การตั้งตาลปัตร

บุญประเพณี ฮีตสิบสอง

๑. บุญเดือนอ้าย - บุญเข้ากรรม                      

๒. บุญเดือนยี่ - บุญคูนลาน                          

๓. บุญเดือนสาม – บุญข้าวจี่-ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก                                          

๔. บุญเดือนสี่ - บุญมหาชาติ (บุญผะเหวด)          

๕. บุญเดือนห้า - บุญสงกรานต์                                                             

๖. บุญเดือนหก – บุญบั้งไฟ

๗. บุญเดือนเจ็ด – บุญสวดบ้าน (บุญเบิกบ้าน)                                                      

๘. บุญเดือนแปด - บุญเข้าพรรษา          

๙. บุญเดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน                                                       

๑๐. บุญเดือนสิบ - บุญฉลาก หรือบุญข้าวสาก                

๑๑. บุญเดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา              

๑๒. บุญเดือนสิบสอง - บุญกฐิน  

งานบุญเพิ่มเติม

- บุญผ้าป่า

- การจัดงานอุปสมบท

- การจัดพิธีศพ

- การย้ายอัฐิ

 

หมายเหตุ : งานพิธีการทุกประเภทตามข้างต้นจะเริ่มต้นขึ้นได้ ต้องผ่านการประชุมหารือร่วมกันของคนในหมู่บ้าน หรือในชุมชนเสียก่อน เพื่อลงมติวางแผนกำหนดวันในการจัดงานตามความเหมาะสม และต้องกราบนิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรม ยกเว้นงานที่ไม่อาจทราบล่วงหน้า หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน เช่น งานศพ   



......................................

เนื้อหาบางส่วน
 
“อย่าสิไลเสียถิ้ม พงศ์พันธุ์พี่น้องเก่า
อย่าสิละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี”
(อย่าได้ทอดทิ้งญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลตนเอง
แล้วมัวไปยกย่องชื่นชมเห็นคนอื่นดีกว่า สำคัญกว่าญาติพี่น้องของตน)



ความเป็นมาของประเพณีฮีตสิบสอง

     “ฮีตสิบสอง” เป็นการทำบุญในแต่ละเดือนของทุกปีโดยหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล ประเพณีนี้ได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาแต่โบราณ ซึ่งบางท้องถิ่นยังคงมีการทำบุญลักษณะนี้สืบต่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในหลายพื้นที่ ประเพณีนี้ค่อย ๆ เลือนหายไปตามยุคสมัย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนของบุญประเพณีและพิธีกรรม หยิบยกมาเพียงส่วนสำคัญที่ยังคงเป็นวิธีปฏิบัติในปัจจุบันของชาวชุมชนตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น นอกจากบุญประเพณีฮีตสิบสองแล้ว หมู่บ้านชีทวนยังมีงานเฉลิมฉลองพิเศษที่สำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย โดยจะขอนำมาเล่าสู่ฟังอย่างย่อ ๆ พอสังเขป ก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก ดังนี้

● การแห่พระธรรมเทโว

     การแห่พระธรรมเทโว หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แห่พระเทโว” เป็นการแห่องค์พระพุทธรูปโดยใช้คนหามแบกคนละมุม รวม ๔ คน แล้วแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำน้ำอบน้ำหอมมาสรงน้ำพระพุทธรูป มีจุดประสงค์หลักเพื่อขอฝน ช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการขอพรจากเหล่าทวยเทพเทวดา ให้ช่วยดลบันดาลฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหาร เรือกสวนไร่นาจะได้มีความอุดมสมบูรณ์

     น้ำอบน้ำหอมที่นำมาสรงน้ำพระนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะเด็ดเอาดอกมะลิ ดอกพุดซ้อน ดอกดาวเรือง หรือดอกบานไม่รู้โรย ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ดอกที่ชาวบ้านปลูกไว้เองมาโรยใส่ในขันน้ำใบใหญ่ แล้วใส่น้ำอบน้ำหอม หรือเทแป้งหอมลงไป เตรียมรอเอาไปสรงน้ำพระพุทธรูปตอนที่มีขบวนแห่ผ่านมาตามถนนใหญ่ในหมู่บ้านนั่นเอง

● งานเลี้ยงเจ้าปู่คู่บ้านคู่เมือง (ปู่ตา)

     เป็นพิธีการตามความเชื่อของชาวบ้านชีทวน ว่ามีพ่อปู่ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ “ปู่ตา” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เสมือนเป็นปู่แก่ประจำหมู่บ้านชีทวนที่คอยเฝ้าดูแลปกป้องรักษาหมู่บ้านรวมถึงชาวบ้านให้มีความร่มเย็นเป็นสุข การจัดงานเลี้ยงเจ้าปู่ก็เพื่อขอฝนในฤดูทำนาให้แก่ชาวบ้าน และเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้รับทราบ จะมีการเสี่ยงทายไม้สั้นไม้ยาวผ่าน “พ่อเฒ่าจ้ำ”* ว่าในปีนั้นน้ำจะน้อยหรือจะมาก นาในที่ดอนหรือนาในที่ลุ่มจะอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด ศาลของเจ้าปู่นี้ ตั้งอยู่บริเวณหน้าปากทางเข้าหมู่บ้านชีทวน หากใครขับรถผ่านไปมามักจะบีบแตรหรือยกมือไหว้เพื่อแสดงความเคารพอยู่เสมอ

หมายเหตุ :  **พ่อเฒ่าจ้ำ หมายถึง คนที่เป็นตัวแทนในการเสี่ยงทาย
     
● งานปิดทองหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ

     พระพุทธวิเศษเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะเก่าแก่สมัยทวารวดี แกะสลักด้วยศิลาแลง หน้าตักกว้าง ๒๒ นิ้ว สูง ๓๙ นิ้ว อายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน มีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องการขอบุตร มักจะได้สมหวัง สมดังใจ จนเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือไปไกลถึงต่างแดน

     งานปิดทองหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ จะมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวบ้าน โดยถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวชุมชนตำบลชีทวนและชาวบ้านใกล้เคียงมายาวนาน ปัจจุบัน วัดทุ่งศรีวิไลได้รับการบูรณะโดยรวมใหม่ทั้งหมด วิจิตรงดงามมาก จากผู้มีจิตศรัทธาในองค์หลวงพ่อพระพุทธวิเศษจากหลากหลายสถานที่ที่ได้เดินทางมาสักการะเพื่อขอพร บ้างก็บนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้สิ่งที่ตนนึกคิดเอาไว้สมดังใจปรารถนา โดยเฉพาะเรื่องการขอลูกกับองค์หลวงพ่อ จะเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานกันอย่างมาก ดังนั้นแล้ว การจัดงานพิธีดังกล่าวจึงเป็นงานมงคลที่สำคัญอีกงานหนึ่งซึ่งชาวบ้านตำบลชีทวนทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน ยกให้เป็นงานประจำปีที่ต้องกระทำกันมาตลอดจวบจนปัจจุบัน

 

----------------------------------
ร่วมสนับสนุนการจัดพิมพ์
เพื่อสืบสานภูมิปัญญามรดกอันล้ำค่า
ได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย
เลขที่บัญชี 695-2-31878-9
ชื่อบัญชี บจก. วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด
----------------------------------

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้