ตำรา พฤติกรรมองค์การ

คุณสมบัติสินค้า:

เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำ
 
ตำราเรื่อง “พฤติกรรมองค์การ” เล่มนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนและการสอนสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอก คณะบริหารธุรกิจและคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การถูกพัฒนาขึ้นด้วยงานเขียนและงานวิจัยของนักวิชาการตะวันตก และพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นักศึกษาไทยเป็นส่วนมากต้องประสบปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือหรือตำราที่เป็นภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีและลึกซึ้ง
 
ตำราเล่มนี้จึงเขียนขึ้นโดยรวบรวมความรู้จากหนังสือ ตำรา และบทความวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำทางการค้นคว้าวิจัยในเรื่องพฤติกรรมองค์การ ตลอดจนงานวิจัยที่ผู้เขียนศึกษาและค้นคว้าและเผยแพร่ในวารสารที่สอดคล้องในเนื้อหา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก
 
ขณะที่ดำเนินการเขียนตำรา พฤติกรรมองค์การ เล่มนี้ ผู้เขียนมีกรอบแนวคิดคือ
- ใช้เป็นตำราประกอบการเรียนวิชา พฤติกรรมองค์การ ในหลักสูตรปริญญาตรีของคณะบริหารธุรกิจ และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- ผู้อ่านคือ นักศึกษาปริญญาตรีที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน หรือจะจบการศึกษาเพื่อนำไปทำงานในตำแหน่งด้านการบริหารและการจัดการองค์การ ส่วนนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่มีประสบการณ์ทำงานเพื่อนำไปทบทวนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมบุคคล กลุ่ม และองค์การ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- เนื้อหาของตำราควรมีประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) เป็นองค์ความรู้หลักของวิชาการที่ผู้ศึกษาเรื่องพฤติกรรมองค์การควรทราบ และ (2) เป็นความรู้ที่ผู้ศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
- เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเล่มนี้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำคัญสำหรับหัวข้อที่สนใจของผู้ศึกษาต่อไป
การนำเสนอเนื้อหาในตำราเล่มนี้ ผู้เขียนพยายามเขียนภาษาไทยและกำกับด้วยภาษาอังกฤษสำหรับคำศัพท์ของพฤติกรรมองค์การ ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักและคุ้นเคยกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ทั้งในหนังสือหรือตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น เนื้อหาที่ปรากฏใน
 
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
 
ส่วนที่หนึ่ง ประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ บทนำ และประวัติความเป็นมา  บริบทองค์การสมัยใหม่ และจริยธรรม  และผลลัพธ์พฤติกรรมองค์การ ในส่วนแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความเป็นมา บริบทสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมองค์การ รวมถึงการจัดการพฤติกรรมองค์การบนพื้นฐานการมีจริยธรรม ตลอดจนผลลัพธ์ของพฤติกรรมองค์การทั้งระดับบุคคล กลุ่ม และองค์การ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการบริหารจัดการพฤติกรรมองค์การที่มีประสิทธิภาพ
 
ส่วนที่สอง ประกอบด้วย 5 บท ได้แก่ การรับรู้ ทัศนคติ และบุคลิกภาพ  การขัดเกลาทางสังคมในองค์การ  ทฤษฎีแรงจูงใจเกี่ยวกับความต้องการ  แรงจูงใจเกี่ยวกับกระบวนการ และการเสริมแรง  และความเครียด  ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับบุคคลที่แสดงพฤติกรรมแตกต่างกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลหรือมาจากสาเหตุด้านการรับรู้ ทัศนคติ หรือบุคคลที่แตกต่างกัน รวมถึงเมื่อบุคคลเริ่มเข้าสู่องค์การจะถูกขัดเกลาทางสังคมโดยองค์การ เพื่อให้แสดงพฤติกรรมตามคนในองค์การแสดงก่อนหน้า นอกจากนั้นยังเป็นการอธิบายลักษณะของการสร้างแรงจูงใจบุคคลผ่านทฤษฎีต่าง ๆ ที่เน้นตอบสนองต่อความต้องการของบุคคล กระบวนการ หรือการเสริมแรงให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของบุคคล
 
ส่วนที่สาม ประกอบด้วย 6 บท ได้แก่ กลุ่ม และกระบวนการหว่างกลุ่ม  ความขัดแย้งในองค์การ  ภาวะผู้นำ และการจัดการ  อำนาจ และพฤติกรรมเชิงการเมือง  กระบวนการตัดสินใจ และกระบวนการแก้ไขปัญหา  และกระบวนการสื่อสาร ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับกลุ่มเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามมาในการทำงานร่วมกัน การแสดงภาวะผู้นำเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง และการส่งเสริมให้การทำงานของกลุ่มหรือทีมงานมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการสื่อสารที่จะเกิดขึ้นในการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มให้สูงขึ้นไป
 
ส่วนที่สี่ ประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ วัฒนธรรมองค์การ  การออกแบบองค์การ  และการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาองค์การ  ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับองค์การเกี่ยวกับภาพรวมของพฤติกรรมระดับบุคคลและกลุ่ม ที่สะท้อนพฤติกรรมภาพรวมขององค์การที่แสดงออกด้านวัฒนธรรมองค์การที่ดำเนินการหรือยึดถือปฏิบัติต่อกันมา รวมถึงการออกแบบโครงสร้างองค์การให้มีความเหมาะสมกับลักษณะการดำเนินงานหรือบริบทที่องค์การดำเนินงานอยู่ ตลอดจนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์การผ่านกระบวนการและขั้นตอนสำคัญ เพื่อให้องค์การมีประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน
 
“พฤติกรรมองค์การ” เป็นเรื่องที่นักวิชาการ นักวิจัยและปฏิบัติ ทางฝั่งตะวันตกทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ไว้ในหนังสือและ/หรืองานวิจัยอย่างมากมาย เนื้อหาความรู้หรือสาระสำคัญนอกเหนือไปจากหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมาก แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การมีนักวิชาการหลายคนนำเสนอในแง่มุมและบริบทต่าง ๆ การศึกษาเนื้อหาพฤติกรรมองค์การจากนักวิชาการที่นำเสนอในแง่มุมที่ต่างกัน จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์และวิพากษ์ต่อไป ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือหรือตำราทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากแหล่งต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านจากหนังสือหรือตำราต่อไป
 
หากนักศึกษาหรือผู้อ่านท่านใด อ่านตำราเล่มนี้แล้วได้รับความรู้และมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การ ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปถ่ายโอนหรือประยุกต์ในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน ก็นับว่าเป็นความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
 
 
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
11 มิถุนายน 2564
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้