ตำรา พฤติกรรมองค์การ

คุณสมบัติสินค้า:

เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำ
 
ตำราเรื่อง “พฤติกรรมองค์การ” เล่มนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนและการสอนสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอก คณะบริหารธุรกิจและคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การถูกพัฒนาขึ้นด้วยงานเขียนและงานวิจัยของนักวิชาการตะวันตก และพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นักศึกษาไทยเป็นส่วนมากต้องประสบปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือหรือตำราที่เป็นภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีและลึกซึ้ง
 
ตำราเล่มนี้จึงเขียนขึ้นโดยรวบรวมความรู้จากหนังสือ ตำรา และบทความวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำทางการค้นคว้าวิจัยในเรื่องพฤติกรรมองค์การ ตลอดจนงานวิจัยที่ผู้เขียนศึกษาและค้นคว้าและเผยแพร่ในวารสารที่สอดคล้องในเนื้อหา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก
 
ขณะที่ดำเนินการเขียนตำรา พฤติกรรมองค์การ เล่มนี้ ผู้เขียนมีกรอบแนวคิดคือ
- ใช้เป็นตำราประกอบการเรียนวิชา พฤติกรรมองค์การ ในหลักสูตรปริญญาตรีของคณะบริหารธุรกิจ และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- ผู้อ่านคือ นักศึกษาปริญญาตรีที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน หรือจะจบการศึกษาเพื่อนำไปทำงานในตำแหน่งด้านการบริหารและการจัดการองค์การ ส่วนนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่มีประสบการณ์ทำงานเพื่อนำไปทบทวนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมบุคคล กลุ่ม และองค์การ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- เนื้อหาของตำราควรมีประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) เป็นองค์ความรู้หลักของวิชาการที่ผู้ศึกษาเรื่องพฤติกรรมองค์การควรทราบ และ (2) เป็นความรู้ที่ผู้ศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
- เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเล่มนี้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำคัญสำหรับหัวข้อที่สนใจของผู้ศึกษาต่อไป
การนำเสนอเนื้อหาในตำราเล่มนี้ ผู้เขียนพยายามเขียนภาษาไทยและกำกับด้วยภาษาอังกฤษสำหรับคำศัพท์ของพฤติกรรมองค์การ ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักและคุ้นเคยกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ทั้งในหนังสือหรือตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น เนื้อหาที่ปรากฏใน
 
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
 
ส่วนที่หนึ่ง ประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ บทนำ และประวัติความเป็นมา  บริบทองค์การสมัยใหม่ และจริยธรรม  และผลลัพธ์พฤติกรรมองค์การ ในส่วนแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความเป็นมา บริบทสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมองค์การ รวมถึงการจัดการพฤติกรรมองค์การบนพื้นฐานการมีจริยธรรม ตลอดจนผลลัพธ์ของพฤติกรรมองค์การทั้งระดับบุคคล กลุ่ม และองค์การ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการบริหารจัดการพฤติกรรมองค์การที่มีประสิทธิภาพ
 
ส่วนที่สอง ประกอบด้วย 5 บท ได้แก่ การรับรู้ ทัศนคติ และบุคลิกภาพ  การขัดเกลาทางสังคมในองค์การ  ทฤษฎีแรงจูงใจเกี่ยวกับความต้องการ  แรงจูงใจเกี่ยวกับกระบวนการ และการเสริมแรง  และความเครียด  ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับบุคคลที่แสดงพฤติกรรมแตกต่างกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลหรือมาจากสาเหตุด้านการรับรู้ ทัศนคติ หรือบุคคลที่แตกต่างกัน รวมถึงเมื่อบุคคลเริ่มเข้าสู่องค์การจะถูกขัดเกลาทางสังคมโดยองค์การ เพื่อให้แสดงพฤติกรรมตามคนในองค์การแสดงก่อนหน้า นอกจากนั้นยังเป็นการอธิบายลักษณะของการสร้างแรงจูงใจบุคคลผ่านทฤษฎีต่าง ๆ ที่เน้นตอบสนองต่อความต้องการของบุคคล กระบวนการ หรือการเสริมแรงให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของบุคคล
 
ส่วนที่สาม ประกอบด้วย 6 บท ได้แก่ กลุ่ม และกระบวนการหว่างกลุ่ม  ความขัดแย้งในองค์การ  ภาวะผู้นำ และการจัดการ  อำนาจ และพฤติกรรมเชิงการเมือง  กระบวนการตัดสินใจ และกระบวนการแก้ไขปัญหา  และกระบวนการสื่อสาร ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับกลุ่มเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามมาในการทำงานร่วมกัน การแสดงภาวะผู้นำเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง และการส่งเสริมให้การทำงานของกลุ่มหรือทีมงานมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการสื่อสารที่จะเกิดขึ้นในการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มให้สูงขึ้นไป
 
ส่วนที่สี่ ประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ วัฒนธรรมองค์การ  การออกแบบองค์การ  และการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาองค์การ  ในส่วนนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพฤติกรรมระดับองค์การเกี่ยวกับภาพรวมของพฤติกรรมระดับบุคคลและกลุ่ม ที่สะท้อนพฤติกรรมภาพรวมขององค์การที่แสดงออกด้านวัฒนธรรมองค์การที่ดำเนินการหรือยึดถือปฏิบัติต่อกันมา รวมถึงการออกแบบโครงสร้างองค์การให้มีความเหมาะสมกับลักษณะการดำเนินงานหรือบริบทที่องค์การดำเนินงานอยู่ ตลอดจนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์การผ่านกระบวนการและขั้นตอนสำคัญ เพื่อให้องค์การมีประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน
 
“พฤติกรรมองค์การ” เป็นเรื่องที่นักวิชาการ นักวิจัยและปฏิบัติ ทางฝั่งตะวันตกทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ไว้ในหนังสือและ/หรืองานวิจัยอย่างมากมาย เนื้อหาความรู้หรือสาระสำคัญนอกเหนือไปจากหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมาก แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การมีนักวิชาการหลายคนนำเสนอในแง่มุมและบริบทต่าง ๆ การศึกษาเนื้อหาพฤติกรรมองค์การจากนักวิชาการที่นำเสนอในแง่มุมที่ต่างกัน จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์และวิพากษ์ต่อไป ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือหรือตำราทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากแหล่งต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านจากหนังสือหรือตำราต่อไป
 
หากนักศึกษาหรือผู้อ่านท่านใด อ่านตำราเล่มนี้แล้วได้รับความรู้และมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การ ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปถ่ายโอนหรือประยุกต์ในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน ก็นับว่าเป็นความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
 
 
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
11 มิถุนายน 2564

ประวัติผู้เขียน
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ประวัติการศึกษาและการทำงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จบปริญญาตรีด้านการจัดการทั่วไป (เกียรตินิยมอันดับ 1) สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปริญญาโทด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาเอกด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทำงานในภาคเอกชนด้านการให้คำปรึกษาธุรกิจและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประมาณ 3 ปี ก่อนเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และย้ายมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2554
หัวข้อที่มีประสบการณ์การสอนหรือการทำวิจัยคือ พฤติกรรมองค์การ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  มีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 30 เรื่อง ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล Web of Science และ Scopus เช่น International Journal of Organizational Analysis, Industrial and Commercial Training, International Journal of Quality & Reliability Management, Kybernetes, Journal of Open Innovation: Technology, Market, and Complexity, International Journal of Public Sector Performance Management, International Journal of Engineering Business Management เป็นต้น

ความมุ่งมั่นในการทำงานส่งผลให้ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นด้านผลงานวิจัยพื้นฐาน (RMUTT Outstanding Researcher in Basic Research) ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและนานาชาติดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. 2559, 2560-2563 และรางวัลผู้ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลสากล Web of Science และ Scopus มากที่สุด พ.ศ. 2563

นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์เก่าที่มีผลงานวิชาการดีเด่น พ.ศ. 2561 (Academy Outstanding Alumni) จากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดจนใน พ.ศ. 2555-2557 ได้รับเกียรติตั้งแต่งเป็น The Honorary Ambassador of HRD Korea in 2012-2014 from Human Resources Development Service of Korea
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้