คำนำผู้เขียน
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาในระยะเวลา 30 ปี ผมมีโอกาสได้พบกับบุคคลสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ผู้นำประเทศและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอย่างอองซานซูจี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของหลากหลายประเทศ รวมถึงนักธุรกิจชื่อดังต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่ามิได้ และได้รับบทเรียนต่าง ๆ มากมายในชีวิต
ผมกลับมาย้อนมองประสบการณ์เหล่านั้น และถามตัวเองว่า “อะไร” ที่ทำให้เราไปถึงจุดต่าง ๆ ในที่ที่เราไปนั้นเป็นความบังเอิญ โชคชะตา ฟ้าลิขิต หรือเพราะว่าเรา “เลือดกรุ๊ปบี” กันแน่ ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปกี่ครั้ง ทุกอย่างก็สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า “startup mindset” แนวคิดแบบสตาร์ตอัป ซึ่งผมนำมาแบ่งปันกับทุกคนผ่านหนังสือเล่มแรกในชีวิตของผม
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. start up ช่วงเริ่มต้นที่อยากชวนทุกคน “คิดใหญ่ เริ่มไว”
2. speed up ช่วงหลังจากการเริ่มต้นที่ทุกคนต้อง “ใส่ใจ ทำไว”
3. scale up ช่วงสุดท้ายที่จะชวนทุกคน “เล่นใหญ่ โตไว”
แต่ละตอนจะเป็นเรื่องราวสั้น ๆ มีทั้งที่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะได้เริ่มทำ startup ระหว่างที่ผมทำ startup และการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหลายบริษัท ทุกวันนี้ผมยังใช้แนวคิดนี้กับงานที่ปรึกษาภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานต่าง ๆ คือ การประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งหมดผ่านเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่ได้พบด้วยตัวเองและจากคนรอบข้าง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและมีแรงบันดาลใจในการลงมือทำในสิ่งที่มีคุณค่า
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ How to หรือแนวทางสำหรับการสร้าง startup แต่จะเป็นหนังสือที่ให้แนวคิดผ่านเรื่องราวที่อยากให้ทุกคนเปิดใจและนำแนวคิดแบบ startup ไปใช้ในการทำงาน
ผมถือว่าตัวเองเป็นคนโชคดีที่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ และอยากจะแบ่งปันแนวคิดนี้ให้กับผู้อ่านทุกท่าน และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกแนวคิดจากหนังสือ “The Startup Mindset” นี้จะสามารถนำไปใช้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเมือง นโยบายภาครัฐ การบริหารธุรกิจ หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัว อยากให้ทุกคนที่มีความคิดความฝัน ได้รับรู้ไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ยังมีคนอีกมากที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเพื่อนคุณ หรืออย่างน้อยผมเองก็อยู่ตรงนี้คอยเป็นกำลังใจและเป็นเพื่อนอยู่เสมอ
หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้เปลี่ยนชีวิตคุณ อาจไม่ได้ทำให้คุณเริ่มลุกขึ้นมาทำ startup อาจไม่ได้ทำให้คุณได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่ผมหวังว่า หลังจากที่คุณวางหนังสือเล่มนี้ลง เรื่องราวต่าง ๆ จะอยู่ในความทรงจำของคุณ ช่วยเป็นกำลังใจ เป็นแนวคิดในการทำงานและการใช้ชีวิต คุณจะคิดใหญ่ขึ้น เริ่มทำไวขึ้น เล่นใหญ่มากขึ้น และเติบโตไวขึ้นในแบบที่คุณต้องการ
Make on,
Casper S.
................................................
7 สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับ startup
มีคำถามมากมายที่ผมได้รับเวลาได้พบกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เมื่อพวกเขารู้ว่าผมทำ startup ก่อนอื่นผมอยากจะขอแบ่งปัน 7 สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำ startup
มาเก็บคะแนนกันดูว่า คุณเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำ startup ทั้งหมดกี่ข้อ
ข้อที่ 1 คนทำ Startup ต้องเป็นเด็กแน่ ๆ เลย
ผมสอนและทำ training ให้กับคนนับร้อย ๆ คน ทุกครั้งที่มีการทำ training เกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม (innovation) หรือ startup ผมมักจะเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “อายุเฉลี่ยของ startup founder คือเท่าไร” คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่ก็คือ อายุน้อยกว่า 30 ปี โดยมีอายุตั้งแต่ 18 19 20 25 30 ปี และมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบอายุมากกว่าอายุที่ถูกต้อง คนที่ตอบอายุที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยก็มักจะเป็นคนที่สังเกตเห็นสีหน้าของผม แล้วรู้ว่าผมต้องการคำตอบที่เหนือความคาดหมาย
แล้วคุณล่ะคิดว่า “อายุเฉลี่ยของ startup founder คือเท่าไร”
อายุ 42 ปี คือคำตอบที่เป็นค่าเฉลี่ยจากสถิติงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา
เวลาที่เรานึกถึง startup เรามักจะคิดถึงภาพเด็ก ๆ ที่เริ่มทำบริษัทกัน ซึ่งเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ และภาพของเด็กที่ประสบความสำเร็จมักจะปรากฏซ้ำ ๆ ให้เราเห็นจนชินตา ความจริงแล้ว ถ้าคุณเริ่มทำ startup ตอนอายุ 22 ปี ส่วนมากแล้วจะใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จได้ หากยังไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง จึงทำให้ค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่คนทั่วไปคิดไว้ ที่สำคัญคือ คนที่ประสบความสำเร็จใน startup ส่วนมากคือคนที่เคยเป็นพนักงานประจำ แต่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทหรืออุตสาหกรรมแล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหา มีต้นทุนทางสังคม และมีคอนเน็กชันที่เหมาะสม ดังนั้นแล้ว หากคุณคิดว่าคุณแก่เกินไป ผมอยากให้คุณลองคิดใหม่ เพราะคุณก็เป็นหนึ่งในคนทำ startup ได้เช่นกัน
ข้อที่ 2 startup คือการคิดแบบไม่มีระบบ
ที่จริงแล้ว startup ที่ประสบความสำเร็จ คือกลุ่มคนที่ทดลองและมองหาระบบที่สามารถ scale ได้ หรือเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะ startup ต้องอาศัยระบบช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ให้กับคนหมู่มาก ช่วงเริ่มต้นอาจจะไม่ยึดติดกับระบบเดิม และเน้นการทดลองที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า หรือ “product-market fit”
ในช่วงทดลองนี้เอง พวกเขาจะใช้เวลาและทำงานอย่างไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบเพื่อจัดการ แก้ปัญหา และสร้างระบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาตรงหน้าและเตรียมพร้อมที่จะเติบโตได้แบบก้าวกระโดดนั่นเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างธุรกิจใหม่หรือทำธุรกิจแบบ Startup เท่านั้น ถึงจะใช้วิธีการคิดแบบนี้ได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียน นักวิจัย นักการเมือง ข้าราชการ ก็สามารถนำวิธีการคิดแบบ startup ไปใช้เพื่อที่จะทลายกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ที่อาจจะไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาในยุคปัจจุบันและอนาคต
ข้อที่ 3 ทุกธุรกิจที่สร้างใหม่คือธุรกิจ startup
การให้ความหมายของคำว่า “ธุรกิจเริ่มใหม่ (new business)” กับ “ธุรกิจ startup” เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสน เรามักจะใช้ไม่ถูกต้องเพราะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง
ทุก startup ต้องเคยเป็นธุรกิจใหม่มาก่อน แต่ไม่จำเป็นว่าธุรกิจใหม่ทุกธุรกิจจะต้องเป็นธุรกิจ startup เพราะหลักการคิด โมเดลธุรกิจ และวิธีคิดในการแก้ปัญหาและการเติบโตนั้นมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
การทำธุรกิจแบบ SMEs คือคำนึงถึงการเติบโตแบบเป็นเส้นตรง (linear) แปลว่า การทำธุรกิจแบบ startup คือการคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ รวมทั้งการสร้างระบบระเบียบของผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์คนหมู่มากได้ และจะทำอย่างไรให้เติบโตเป็น 10 เท่า หรือ 100 เท่า โดยไม่เกิดปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุด (exponential)
หลังจากที่ผมได้ทำการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทำให้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว วิธีการคิดแบบ startup เหมาะกับการทำงานของภาครัฐที่จะบริการประชาชนจำนวนมาก โดยวิธีการคิดแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ค่อย ๆ แก้ปัญหาไปนั้น ไม่สามารถทำให้บริการภาครัฐตอบโจทย์ประชาชนและการเปลี่ยนแปลงของโลก และเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที
คงจะเป็นเหตุผลว่า ถ้าเรามองไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะเห็นตัวอย่างประเทศที่เน้นนวัตกรรมและ startup เช่น ฟินแลนด์ เอสโตเนีย จีน หรือแม้กระทั่งอินเดียและอินโดนีเซียเองก็หันมาสนับสนุน startup เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) แทนที่รัฐบาลจะต้องทำเอง โดยสนับสนุนให้คนในประเทศและผู้ประกอบการในประเทศ ลุกขึ้นมาทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนร่วมกันกับรัฐบาล
ข้อที่ 4 ผู้ก่อตั้งบริษัท startup ต้องเป็น CEO เท่านั้น
แท้จริงแล้ว ลักษณะนิสัย (character) ของคนที่จะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจะแตกต่างจากผู้บริหารอย่างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เมื่อเริ่มต้นธุรกิจนั้น อาจมีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ และไม่สามารถจ้างใครมาบริหารงานแทนได้ คุณต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้น CEO ที่เป็น startup founder จริง ๆ แล้วน่าจะย่อมาจากคำว่า “chief everything officer” บุคคลที่เป็นทุกอย่างในด้านการบริหาร มากกว่านักบริหารอย่าง “chief executive officer”
แม้จะเห็นผู้ก่อตั้ง Startup หลายคนสามารถเติบโตไปเป็นผู้บริหารที่ดีได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องหาคนอื่นมาทำแทน หรือหาคนเก่ง ๆ เข้ามาเสริมทีม อีกทั้ง startup ส่วนมากจะมีผู้ร่วมก่อตั้งหลายคน ที่มีความถนัดและความสนใจแตกต่างกันไป ดังนั้น ทุกคนสามารถเป็น startup founder ได้ แม้คุณจะไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหรือไม่ใช่นักธุรกิจก็ตาม
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ Hans (นามสมมติ) เขาตัดสินใจเลือกให้ตัวเองเป็น CTO (chief technology officer) หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี มากกว่า CEO แม้ Hans จะเป็นคนแรกและผู้เริ่มต้นหลักที่ทำ startup ขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่า สำหรับเขาแล้ว การหา CTO นั้นยากกว่าการหา CEO นั่นเอง เขาจึงเลือกที่จะเป็น CTO แทน และหาผู้ร่วมก่อตั้งที่จะมาเป็น CEO
สำหรับคุณแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพแต่เพียงเท่านั้นถึงจะทำ startup ได้
ข้อที่ 5 startup ทำไปก็เจ๊ง
ตัวเลขโดยทั่วไประบุว่า การทำ startup จะได้ผลคือเจ๊ง 99% ถ้าทำร้อยจะมีเพียงหนึ่งเดียวที่ประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จของหนึ่งในนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม ประเทศ หรือโลกได้ ยกตัวอย่าง Facebook ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั้งโลก ถือเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ คนส่วนใหญ่กำลังค้นหาวิธีแก้ปัญหา (solution) เพื่อจะเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อคุณลงมือทำ ไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุก คุณก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่า 1% อย่างแน่นอน
ข้อที่ 6 “Startup Mindset” มีไว้สำหรับทำธุรกิจเท่านั้น
“startup mindset” เป็นเครื่องมือ วิธีคิด ความคิด หรือ framework methodology ที่ผมจะอธิบายในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำธุรกิจ การวางแผนทางด้านการเงิน การใช้ชีวิตส่วนตัว การเลือกคู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งการเขียนหนังสือนั่นเอง
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เข้าคอร์สการเป็นนักเขียนกับเซนเซแป๊ะ วิฑูรย์ สูงกิจบูลย์ ทำให้ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา คำแนะนำและเทคนิคดี ๆ จากผู้เขียนหนังสือที่ประสบความสำเร็จ ส่วนมากจะใช้วิธีการคิด ทดลอง และลงมือทำ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดแบบ startup ที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น การทำ prototype หรือการทำแบบทดลองก่อน เพื่อเก็บ feedback จากผู้ใช้ก่อนการสร้างผลิตภัณฑ์จริง คอนเซปต์นี้ผมนำมาใช้ในตอนที่ทำ growth hacking ให้กับบริษัทเกม เวลาที่เราไม่มั่นใจว่าจะออกผลิตภัณฑ์เกมไหนดี หรือแม้กระทั่งการออกหนังสือสักเล่มก็ตาม เราจะใช้การทดลองแบบ growth hacking กระบวนการในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างสมมติฐาน ทดลอง และเรียนรู้ เพื่อที่จะทำนายผลลัพธ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
อย่างการเขียนหนังสือดี ๆ สักเล่ม แต่กลับไม่มีคนซื้อ ผลลัพธ์ก็คือความสูญเปล่า ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นเขียนเนื้อหา เราต้องคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ต่อมาคือการเขียนหัวข้อ การออกแบบปกหรือออกแบบรูปเล่มอย่างไรเพื่อให้มีความน่าสนใจ ถึงขั้นที่ว่าแค่มองเห็นหนังสือก็อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านและจ่ายเงินซื้อ ซึ่งทุกขั้นตอน ผมได้นำมาปรับใช้กับการเขียนหนังสือ คุณเองก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปที่เขียนหนังสือ ถ้าได้ทดลองเผื่อได้ feedback ระหว่างทางนั่นเอง
ข้อที่ 7 คนที่ทำ startup แล้วไม่สามารถกลับไปทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ได้
หลายคนไม่กล้าออกมาทำ startup เพราะคิดว่าถ้าออกมาทำแล้วจะสูญเสียเส้นทางการเติบโตในอาชีพ (career trajectory) สำหรับบริษัทหลายแห่งที่กำลังสร้างทีมนวัตกรรม หรือ new business ต่าง ๆ ก็กำลังมองหาผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่ได้ลองทำธุรกิจของตัวเอง เพราะคุณจะมีวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ มีวิธีคิดว่าทำอย่างไรจะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแม้จะมีอยู่อย่างจำกัด ในวันที่คุณกลับไปทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ คุณจะมีองค์ความรู้ที่ช่วยให้บริษัทเติบโตและสร้างนวัตกรรมได้อยู่ตลอดเวลา เพราะประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากองค์กรใหญ่ ๆ และไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่านตำราเพียงเท่านั้น
ตอนนี้ทุกคนก็พร้อมที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้กันแล้ว
.................................................
สารบัญ
7 สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับ startup
Start up คิดใหญ่ เริ่มไว
คิดใหญ่
1 | อาหารมื้อเที่ยงที่แพงที่สุดในชีวิตกับ Warren Buffett
2 | ร้านซูชิที่นำเข้าเชฟจากญี่ปุ่น
3 | งานสัมมนาเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นจากคนเพียง 5 คน
เริ่มไว
4 | ใช้เงิน 10,000 บาท หาเงินหลายล้านบาท ใน 1 สัปดาห์
5 | บทเรียนจากการ selfie กับเจ้าของกิจการ 5 คน (ตอนที่ 1)
6 | บทเรียนจากการ selfie กับเจ้าของกิจการ 5 คน (ตอนที่ 2)
7 | แก้ปัญหาคุณภาพอาหารด้วยรูปถ่าย
8 | Chatbot ที่ไม่ยอมตอบคุณป้าเจ้าของร้าน
Speed up ใส่ใจ ทำไว
ใส่ใจ
9 | คู่มือการใช้ท่านประธาน ที่พนักงานช่วยกันเขียน
10 | จุดเริ่มต้นของการเป็น speaker ที่งาน Tech Asia Indonesia
11 | เพิ่มเวลาทำงาน 1 เดือนทุกปีด้วยรถแท็กซี่
12 | สตาฟลงทะเบียนที่มีอีกตำแหน่งเป็น CEO
13 | Startup ช่วยเหลือคนพิการสัญชาติไทยที่ CEO Microsoft กล่าวยกย่อง
14 | Alibaba บริษัทที่บังคับัให้ทุกคนเรียกชื่อเล่นจากวรรณกรรม
ทำไว
15 | ความบังเอิญที่ได้นั่งโต๊ะข้าง ๆ อองซานซูจี
16 | ร้านเสื้อผ้าที่มีให้เลือกมากกว่า 100 ลาย แต่ผลิตจริงเพียงลายเดียว
17 | รถไฟชินคันเซน ที่ผมอยากให้ขับช้าลง
18 | การเข้าห้องน้ำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ
19 | กระดาษ 6 แผ่น ของ Jeff Bezos
scale up เล่นใหญ่ โตไว
เล่นใหญ่
20 | เปลี่ยนรหัส WiFi ให้กลายเป็นเงินลงทุน
21 | Day One ชื่อตึกสำนักงานใหญ่ ที่ใคร ๆ ก็ไม่มีทางลืม
22 | ป้ายพนักงาน 9 ประการ ที่ทุกคนต้องห้อยไว้
23 | 102 ปี ตัวเลขเกินร้อย ที่จะพาบริษัทข้าม 3 ศตวรรษ
24 | ผัดไทยที่ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นอาจารย์
25 | ลูกครึ่งอินโดนีเซีย-ไทย ที่ทั้งพ่อและแม่ไม่ใช่คนอินโดฯ
โตไว
26 | กฎแห่งเลข 3 และเลข 10
27 | 80/20 vs 50/1 ทำน้อยได้มาก ทำมากได้มากขึ้น
28 | มีวันนี้ เพราะพี่ Terri ให้
29 | บริษัทที่มีวิศวกรมือดีมากกว่าล้านคนทำงานให้ (โดยไม่ต้องจ่ายเงิน)
Ending
3 เหตุผล ที่คน (ควร) ทำ startup
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ : THE STARTUP MINDSET
ผู้เขียน : ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน (แคสเปอร์) อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ขนาด : 14.5 x 21 เซนติเมตร (A5)
จำนวนหน้า : 272 หน้า
กระดาษเนื้อใน : กระดาษปอนด์ 80 แกรม พิมพ์ 4 สี
กระดาษปก : ปกแข็ง เย็บกี่ ราคา : 389 บาท
ISBN : 978-616-8325-11-7
Barcode : 978-616-8325-11-7
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์วิช
จัดจำหน่าย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)