พระธรรมเจดีย์ (กี) พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน

คุณสมบัติสินค้า:

ผลงานชิ้นสำคัญ โดย ส. ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) เพื่อถวายด้วยความศรัทธาจากก้นบึ้งแห่งจิต ในความชื่นชมและศรัทธาต่อพระธรรมเจดีย์ (กี)

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

มุทิตาพจน์ แด่ พระพรหมวชิรธีรคุณ

เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (สมคิด เขมจารี ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ และเจ้าคณะภาค ๑๑ ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามในหิรัญบัฏว่า “พระพรหมวชิรธีรคุณ สุนทรธรรมวาที ศรีปริยัติโกศล วิมลศีลาจารนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี” ศิษย์หาและชาวบ้านชาววัดที่รู้จักมักคุ้นและเคารพนับถือพระคุณท่าน ย่อมมีความยินดีปรีดา และขอร่วมแสดงมุทิตาสักการะกับพระคุณท่านด้วยกันแทบทุกถ้วนหน้า

ว่าจำเพาะข้าพเจ้าเองได้นำหนังสือ พระธรรมเจดีย์ (กี) พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน ซึ่งเขียนถึงท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในมงคลวารนี้ โดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาแต่อย่างใด หากทางสำนักพิมพ์วิชได้ช่วยจัดรูปเล่มให้สวยงาม พร้อมหาภาพประกอบต่างๆ มาลงไว้ ทั้งนี้ นายกษิดิศ อนันทนาธร สัทธิวิหาริกของท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรธีรคุณ ได้ช่วยทำเชิงอรรถให้ และประสานงานจนสำเร็จ

พึงตราไว้ที่นี้ว่า ข้อความที่ว่า ปัจจุบันนี้ก็ดี ในเวลานี้ก็ดี ที่ได้พบในเนื้อหาของหนังสือนั้น หมายถึงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นการพิมพ์ครั้งแรก แม้เนื้อหาบางส่วนอาจพ้นสมัยไปแล้ว แต่สาระที่มุ่งกล่าวถึงท่านเจ้ากีนั้นยังคงอยู่ และเชื่อว่ายังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องราวความเป็นไปในคณะสงฆ์ไทย เพราะพระเถระรูปหนึ่งย่านท่าเตียนได้เสนอให้มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่ตั้งแต่สองปีที่แล้วด้วย หากมาสำเร็จเอาในวาระนี้ 

ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรธีรคุณเป็นพระมหาเถระที่เพียบพร้อมด้วยสีลสุตาทิคุณ เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เป็นผู้ทำหน้าที่ครูอาจารย์ของมวลศิษย์ แสดงธรรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนตามครรลองแห่งพุทธธรรม บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาตินานัปการมาโดยลำดับ จึงทำให้ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานการคณะสงฆ์ในระดับต่างๆ ตลอดมา เช่น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เจ้าคณะแขวงคลองสาน เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ รองเจ้าคณะภาค ๑๑ และเจ้าคณะภาค ๑๑ ซึ่งท่านก็ได้สนองงานการคณะสงฆ์ในส่วนที่ได้ดูแลรับผิดชอบด้วยดีมาโดยตลอด

การที่ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ “พระพรหมวชิรธีรคุณ” ในครั้งนี้ นับว่าเป็นพระมหาเถระรูปแรกแห่งสังฆมณฑลที่ดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามนี้ เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดที่พระสังฆาธิการวัดทองนพคุณเคยได้รับพระราชทานมา ท่านเจ้าคุณจึงเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกแห่งพระอารามนี้เลยทีเดียว

ซึ่งก่อนหน้านี้ ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ “พระธรรมเจดีย์” เทียบเท่ากับท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ และอดีตเจ้าคณะภาค ๔ ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔

นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่พระธรรมเจดีย์ทั้ง ๒ รูป เกิดในปีนักษัตรเดียวกัน คือ เกิดในปีวอกเหมือนกัน สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคเหมือนกัน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ราชทินนามที่ “พระธรรมเจดีย์” เหมือนกัน และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะภาค เหมือนกัน คือ

รูปที่ ๑ พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙) เกิดวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ปีวอก สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓

ส่วนรูปที่ ๒ พระธรรมเจดีย์ (สมคิด เขมจารี ป.ธ.๙) เกิดวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ปีวอก สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

วัดทองนพคุณ เดิมเป็นวัดที่เน้นทางด้านการภาวนา ทั้งสมถกภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ดังขอให้สังเกตราชทินนามของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระญาณรังสี (แสง) พระครูกสิณสังวร (มี) และพระสุธรรมสังวรเถร (มา) เป็นต้น

โดยที่วัดทองนพคุณนี้ไม่เน้นทางด้านคันถธุระ ดังจะเห็นได้ว่า วัดนี้ไม่มีหอไตร แม้จะมีตู้งามๆ สำหรับใส่พระคัมภีร์ต่างๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ก็เป็นรูปพระธรรมคัมภีร์ ครบทั้งสามปิฎก อยู่ตรงข้ามกับพระประธาน ยังล่างลงมา ก็มีรูปพระภิกษุศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม อยู่ใต้ต้นไม้อันมียอดสูงส่งขึ้นไปในทางปรมัตถธรรมเอาเลยทีเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินนั้น ทรงพอพระทัยภาพนี้มาก จนทรงโปรดให้ช่างหลวงมาเขียนจำลองไปไว้เป็นภาพฝาผนังพระวิหารวัดมหาพฤฒาราม ดังนี้เป็นต้น

แต่เมื่อวัดทองนพคุณเปลี่ยนแนวทางจากสำนักปฏิบัติธรรมทางกรรมฐานมาเน้นในทางปริยัติศึกษาตั้งแต่สมัยท่านเจ้าคุณพระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโร) นั้น เจ้าอาวาสทุกรูปต่อแต่นั้นมาล้วนเป็นพระเปรียญเอก และได้รับสมณศักดิ์ถึงชั้นเทพทุกองค์

เว้นท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี) ซึ่งนอกจะได้เลื่อนเป็นชั้นธรรมแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสถานะโกศศพขึ้นเทียบเท่าชั้นหิรัญบัฏอีกด้วย เพราะคุณวิเศษของท่านทางด้านการสอนและการบริหารงานคณะสงฆ์ ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับภาค

ท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี ป.ธ.๙) เป็นเปรียญรูปแรกของวัดทองนพคุณและเป็นเปรียญเอกอุรูปแรกของวัดและของจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดอีกด้วย จำเดิมแต่การสอบพระปริยัติธรรมด้วยการใช้ข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน ทั้งพระคุณท่านยังเป็นโหรเอกแห่งจังหวัดธนบุรีอีกด้วย

ส่วนอันเตวาสิกของพระคุณท่านที่เป็นเจ้าอาวาสถัดไปจากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์นั้น คือ พระเทพปริยัติสุธี (เสรี ธมฺมเวที ป.ธ.๘) แม้จะเป็นเปรียญเพียง ๘ ประโยค แต่ก็มีความสามารถในการบริหารทั้งในและนอกพระอาราม โดยเฉพาะก็ทางบ้านเดิมของท่านที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังได้รับเลื่อนเกียรติยศศพเทียบเท่าชั้นธรรม ตามรอยของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ผู้เป็นอาจารย์อีกด้วย

ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรธีรคุณนี้เล่า ก็เป็นผู้มีจิตใจทุ่มเทให้กับการสอนพระปริยัติธรรม ทั้งในวัดและนอกวัด รวมถึงเป็นครูสอนในชั้นเปรียญเอกในชั้นประโยค ป.ธ.๗-๘-๙ ณ โรงเรียนพระปริยัติธรรมคณะสงฆ์ส่วนกลาง วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ที่สำคัญคืองานด้านการศาสนศึกษานั้น ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ มามากมาย เช่น เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นเลขานุการเจ้าสำนักเรียน เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดทองนพคุณ และที่สำคัญคือเป็นกรรมการตรวจร่างเฉลยข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวงในชั้นประโยค ป.ธ.๓ วิชาบาลีไวยากรณ์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ จนถึงปัจจุบัน

ส่วนงานด้านอื่นๆ ท่านเจ้าคุณได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนทางวิชาการกับกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในการดูแลอนุรักษ์และลงทะเบียนคัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทย ที่เก็บรักษาไว้ ณ ศาลาธรรมุเทศ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๐๐ ผูก ๗๘๓ มัด เลขที่ ๑,๙๐๐ รายการ หนังสือสมุดไทย จำนวน ๘๖ เล่ม โดยได้สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์และอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยใช้งบประมาณค่าวัสดุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท (แปดแสนบาทถ้วน)

พร้อมกันนั้นท่านเจ้าคุณยังได้สนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และสถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถวัดทองนพคุณมาอย่างต่อเนื่อง

ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าสำนักเรียนและเป็นผู้อำนวยการการศึกษาปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดทองนพคุณ โดยได้สนับสนุนส่งเสริมพระภิกษุสามเณรภายในวัดให้ได้รับการศึกษาตามความรู้ความสามารถ โดยจัดให้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี มีนักเรียนเข้าสอบในสนามหลวงทั้ง ๒ แผนกมาโดยตลอด พร้อมทั้งได้ดำเนินการมอบรางวัลเป็นการตอบแทนคณะครูสอนพระปริยัติธรรม และได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนได้เป็นประจำทุกปีการศึกษา

ท่านเจ้าคุณเป็นประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาปริยัติธรรมทองนพคุณ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดทองนพคุณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ตลอดถึงกิจกรรมอื่นๆ ภายในสำนักเรียนวัดทองนพคุณ นอกไปจากนี้แล้ว ท่านยังส่งพระสังฆาธิการภายในวัดให้ไปดูงานนอกวัดจนถึงส่งไปเกาหลีใต้อีกด้วย

ด้านการเผยแผ่ ท่านเจ้าคุณเป็นพระธรรมกถึกผู้มีเทศนาโวหารอันไพเราะตามแนวทางของพระธรรมวินัย ไม่แหวกแนวออกไปเป็นปาฐกถาธรรมอย่างสมัยใหม่ ท่านได้รับอาราธนาเป็นธรรมกถึก แสดงพระธรรมเทศนาในโอกาสต่าง ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนาเนื่องพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙) จัดงานปลงศพโยม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เจาะจงอาราธนาท่านเจ้าคุณไปแสดงธรรมในงานนั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นนิมิตมงคลที่สำคัญ

ยังท่านเจ้าคุณพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) ก็อาราธนาให้ท่านเจ้าคุณไปแสดงธรรมเนื่องในงานของท่านที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในหลายโอกาสด้วยกัน

ท่านเจ้าคุณได้เรียบเรียงบทพระธรรมเทศนาเพื่อนำไปแสดงในงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ก็ได้ให้รวบรวมและจัดพิมพ์บทพระธรรมเทศนาดังกล่าวไว้ในหนังสือ “สมธรรมสมคิด” เพื่อเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสามเณรและท่านผู้สนใจโดยทั่วไป ได้จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา และจัดให้มีการพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก รวมถึงการจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย

ท่านเจ้าคุณเป็นผู้ใฝ่การศึกษาพัฒนาตน ได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของตน เช่น เข้าร่วมอบรมสัมมนาเรื่องบทบาทของพระสงฆ์ผู้นำสังคมในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ที่สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณยังได้ให้ความอนุเคราะห์ทางด้านวัฒนธรรมแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการจัดงานอนุรักษ์มรดกไทยและท้องถิ่น สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ในชุมชนรอบวัด และเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๑ เป็นวิทยากรในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย

ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ท่านได้ดำเนินการจัดตั้งทุนและเพิ่มทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษา ตามมติมหาเถรสมาคม นำฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าดินแดง เลขที่บัญชี ๐๔๔-๐-๐๓๖๖๖-๖ ชื่อบัญชี “ทุนประถม มัธยม อุดมศึกษา วัดทองนพคุณ” และได้นำดอกผลมามอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุก ๆ ปี

ในส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ได้เคารพนับถือเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณมาทุกๆ องค์มาแล้วแต่ต้น ดังเมื่อข้าพเจ้าไปบวชเณรที่วัดนี้ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระภัทรมุนี (อิ๋น) ก็กรุณารจนาพระธรรมเทศนาให้ข้าพเจ้าไปแสดงเพื่อโปรดโยมบิดา

และเมื่อบุตรข้าพเจ้าไปบวชเณรที่วัดทองนพคุณในสมัยเมื่อท่านเจ้าคุณพระเทพปริยัติสุธี (เสรี) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรธีรคุณ แต่เมื่อยังเป็นพระมหาสมคิด เขมจารี ป.ธ.๙ ก็มีแก่ใจรจนาพระธรรมเทศนาให้สามเณรผู้เป็นบุตรข้าพเจ้าได้ไปแสดงโปรดโยมย่าในงานวันเกิดท่านเช่นกัน

อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์จะมอบต้นฉบับลายมือทั้งหมด เอกสารจดหมายเหตุแสดงหน้าที่การงาน และหนังสือเล่ม นิตยสาร วารสาร ของ ส. ศิวรักษ์ และ/หรือ ที่ ส. ศิวรักษ์ เคยเป็นบรรณาธิการ สำหรับเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดภัทรานุสรณ์ ซึ่งเป็นอาคารหอสมุดที่สร้างขึ้นแต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อบูชาคุณพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี/สัตยากรณ์ ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เพื่อทำเป็นหอจดหมายเหตุ ซึ่งแต่เดิมมีหนังสือของข้าพเจ้าเก็บรักษาและให้บริการอยู่บ้างแล้ว ให้สอดรับกับโครงการจัดทำเอกสารจดหมายเหตุ ส. ศิวรักษ์ เมื่อท่านเจ้าคุณได้ทราบความประสงค์แล้วจึงได้อนุญาตให้คณะทำงานได้ปรับปรุงหอสมุดภัทรานุสรณ์ดังกล่าวนั้นขึ้นเป็นหอจดหมายเหตุ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนวงกว้าง จุดประสงค์ก็คืออยากทำให้วัดมีชีวิตชีวา โดยขอความร่วมมือกับสำนักงานเขตคลองสาน เพื่อเชื่อมโยงหอสมุดภัทรานุสรณ์กับกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่จะเป็นห้องสมุดสาธารณะภายใต้การสนับสนุนของกรุงเทพมหานครต่อไป

เพราะพื้นที่ของหอสมุดภัทรานุสรณ์ ซึ่งเป็นอาคาร ๒ ชั้นมีมุขกลาง ให้บริการด้านการศึกษาค้นคว้าทั้งแก่ภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไปมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบัดนี้ โดยชั้นล่างได้เปิดเป็นห้องสมุดและที่อ่านหนังสือทั่วไป จำเพาะชั้นบนได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมผลงานของ ส. ศิวรักษ์ และห้องสมุดเฉพาะทางกับหนังสืออ้างอิง โดยจะดำเนินการให้ได้มีชั้นวางหนังสืออย่างทันสมัยและเพียงพอ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์เพื่อให้การบริการสืบค้น ยืม-คืน และมีบรรณารักษ์ผู้ชำนาญการด้านจัดระบบหนังสือ

รวมทั้งจะการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนหย่อมโดยรอบ บูรณะห้องอาบน้ำห้องสุขาให้สะอาด สะดวก และเพียงพอแก่ผู้เข้าใช้บริการหอสมุด เชื่อว่าหอสมุดภัทรานุสรณ์มีศักยภาพเพียงพอที่จะอุดหนุนกิจกรรมใหม่ๆ ทางด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและพัฒนาเมืองทั้งในส่วนของวัดและชุมชนรอบวัด ด้วยอาศัยฐานของศาสนธรรม วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวัดทองนพคุณได้สั่งสมอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องส่งเสริมให้สามารถสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ อันได้ตั้งหวังไว้ร่วมกันอย่างแน่นอน

ด้วยผลงานอันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ท่านได้รับเกียรติคุณต่างๆ เช่น ได้พระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะ “ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น” โดยได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการกับกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในการดูแลอนุรักษ์และลงทะเบียนคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ที่ศาลาธรรมุเทศ วัดทองนพคุณ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๐๐ ผูก ๗๘๓ มัด เลขที่ ๑,๙๐๐ รายการ หนังสือสมุดไทย จำนวน ๘๖ เล่ม ได้สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์และอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ และสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมพระอุโบสถมาอย่างต่อเนื่อง

นี่ข้าพเจ้ากล่าวมาแต่โดยย่อ เพื่อร่วมแสดงมุทิตาจิตถวายสักการะในโอกาสที่ท่านเจ้าคุณได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะในคราวนี้

ขออำนาจองค์พระประธานในพระอุโบสถ และอำนาจแห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์หลวงพ่อแสงเพชรในพระวิหาร วัดทองนพคุณได้โปรดอภิบาลรักษาท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรธีรคุณ (สมคิด เขมจารี ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ และเจ้าคณะภาค ๑๑ ให้พร้อมไปด้วยจตุรพิธพรทั้งสี่ ให้คงหน้าที่อธิบดีสงฆ์และสั่งสอนศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาสืบต่อๆ ไป ชั่วกาลนานด้วยเทอญ

ส. ศิวรักษ์
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖

................................................

สารบัญ

๑. อารัมภบท

๒. สภาพคณะ ๓ ฯลฯ เมื่อ ๓๕ ปีก่อน

๓. สภาพวัดทองนพคุณเมื่อ ๓๕ ปีก่อน

๔. พระผู้ใหญ่ในวัด

๕. ความสัมพันธ์ส่วนตัว

๖. สร้างหอสมุดภัทรานุสรณ์

๗. กิจการด้านปริยัติ

๘. ปรับปรุงบุคลากรภายในวัด

๙. ปรับปรุงถาวรวัตถุภายในวัด

๑๐. เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี

๑๑. เจ้าคณะภาค ๔

๑๒. การงานในระยะยาว

๑๓. สมณศักดิ์

๑๔. บทสรุป

ภาคผนวก

มงคลธรรมิกวาท

ชีวิตอุดม

ความอ่อนแอและความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ไทยและทางออกจากสภาพปัจจุบันอันรวนเร

................................................

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ : พระธรรมเจดีย์ (กี) พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน

ผู้เขียน : ส. ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์)

ขนาด :  14.5 x 21 เซนติเมตร (A5)

จำนวนหน้า : 336 หน้า

กระดาษเนื้อใน : กระดาษปอนด์ 80 แกรม พิมพ์ขาวดำ

กระดาษปก : อาร์ตการ์ด 260 แกรม พิมพ์ 4 สี เคลือบด้าน สปอต 

ราคา : 295 บาท

ISBN : 978-616-8325-21-6

Barcode : 978-616-8325-21-6

จัดจำหน่าย : บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส. ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนเดียวของนายเฉลิมและนางสุพรรณ สมรสกับนางนิลฉวี มีบุตร ๑ คน ธิดา ๒ คน เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน บรรพบุรุษทั้งหมดเป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเดินทางเข้ามาตั้งรกรากและแต่งงานกับชาวไทยตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงรัชกาลที่ ๕ ส่วนพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นตระกูลที่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่รับราชการในส่วนกลาง แต่ในช่วงที่ ส. ศิวรักษ์ เกิดนั้น เป็นช่วงที่ฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำเกือบถึงขีดสุด จึงแยกครอบครัวมาอยู่ที่ซอยสันติภาพ ถนนนเรศ อันเป็นบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่บิดาถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในช่วงมัธยมต้น ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ต่อมาจึงได้รับการอุปการะจากมารดา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๙๕ ส. ศิวรักษ์ จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เข้าเรียนครั้งแรกในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ แล้วต้องพักการเรียนเพราะภัยจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกือบ ๓ ปี ในระหว่างนี้จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร เป็นช่วงที่ได้รับประสบการณ์จากระบบการศึกษาในวัด แล้วกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนสำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านปรัชญาประวัติศาสตร์และวรรณคดี จากมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ เมืองแลมปีเตอร์ (University of Wales, Lampeter) ในแคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๓ สำเร็จการศึกษาและสอบเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักกฎหมายมิดเดิลเทมเปิล (The Middle Temple Bar Law Association) สหราชอาณาจักร

รางวัล

- รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

- ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บรรยายรับเชิญ (Visiting Professor) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์, มหาวิทยาลัยฮาวาย และมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา

- เกียวโด เจบีเอ็น - เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์ มูลนิธิสันติภาพนิวาโน (Niwano Peace Foundation) มอบรางวัลสันติภาพนิวาโนครั้งที่ ๒๘ ให้กับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากประเทศไทย

- รับประกาศเกียรติคุณรับรางวัล Alternative Nobel Price หรือ Right  Livelihood Award  (สัมมาอาชีวะ ด้านการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย) ประจำปี ๒๕๓๘ ณ กรุงสตอคโฮล์ม รัฐสภาสวีเดน

- รางวัลอัลเทอเนทีฟโนเบล (Alternative Nobel, Right Livelihood Award) หรือรางวัลโนเบลทางเลือก ใน พ.ศ. ๒๕๓๘

ผลงาน

ส. ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมากที่สุด รวมกว่า ๒๐๐ เล่ม ส่วนใหญ่จะเป็นการรวมคำกล่าวหรือบทสัมภาษณ์ในที่สาธารณะ เช่น

- ด้านใน ส. ศิวรักษ์ (๒๕๕๗)

- ด้านหน้า ส. ศิวรักษ์ (๒๕๕๗)

- ครูและแพทย์ ที่พึงปรารถนาในสังคมสยาม (๒๕๕๖)

- กิน กาม เกียรติ ในวัย ๘๐ (๒๕๕๖)

- โฉมหน้า ส. ศิวรักษ์ (๒๕๕๖)

- มองไปข้างหลัง แลไปข้างหน้า เมื่อชราภาพครอบงำ (๒๕๕๔)

- สาบเสือเมื่อพ้นภัยพาล (๒๕๕๓)

- พุทธศาสนากับปัญหาทางเพศและสีกากับผ้าเหลือง (๒๕๕๓)

- เตรียมตัวตายอย่างมีสติ ฉบับขยายความและเพิ่มเติม (๒๕๕๒)

- คันฉ่องส่องพุทธธรรม (๒๕๕๑)

- สอนสังฆราช (๒๕๔๗)

- คันฉ่องส่องตัวตน (๒๕๔๖)

- ลอกคราบชนชั้นปกครองไทย (๒๕๔๑)

ฯลฯ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้