1797 จำนวนผู้เข้าชม |
ก่อนจะมาเป็นหนังสือ Digital Transformation
ผมเปิดบริษัทเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับดิจิทัล ทั้งการทำระบบ การทำ Digital Marketing รวมถึงการออกแบบกลยุทธ์สำหรับดิจิทัล ซึ่งงานที่ทำสามารถช่วยธุรกิจ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ได้ไม่กี่ราย ลูกค้าและองค์กรอื่น ๆ ที่ติดต่อเข้ามา เราไม่มีเวลาพอที่จะไปช่วย ก็ปฏิเสธไป อีกส่วนหนึ่งผมเป็นอาจารย์บรรยายอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ก็จะมีหลายที่ติดต่อให้ผมไปบรรยาย ผมก็ต้องปฏิเสธไป
พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มคิดว่า ทำอย่างไร ที่จะทำให้ทั้งลูกค้าและคนที่ต้องการให้เราไปบรรยาย ได้ความรู้ตรงนี้ไป ประกอบกับเราทำงานครบ 10 ปี แล้ว จึงมีแนวคิดอยากจะทำเป็นหนังสือเพื่อตอบแทนสังคม ก็เลยเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรก
เล่มแรกคือ Digital Transformation in Action เป็นหนังสือที่รวบรวมวิธีคิด ถ้าธุรกิจจะทำดิจิทัล ต้องคิดอย่างไร โดยถอดกระบวนการคิดจากประสบการณ์ เช่น หลักการทำ Digital Transformation สำหรับธุรกิจ 5 หลักการ ซึ่งเล่มแรกนี้ถือว่ายากมาก แม้ว่าผมจะเป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์ หรือเป็นวิทยากรอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ทำงานเขียนมาก่อน จึงเริ่มเขียนจากประสบการณ์ เช่น ถ้ามีคนถามเราแบบนี้ ถ้าเขามีหนังสือแบบนี้ไปน่าจะช่วยเขาได้
โดยการออกแบบจะเน้นเป็นแบบ Info Graphic เพราะอยากให้เข้าใจง่าย อ่านแล้วสามารถไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้จริง ๆ นอกจากเรื่องเนื้อหา ตัวอย่าง ผมก็จะเน้นเรื่องการนำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทย่อย อ่าน 5 นาที ก็จบ
พอเล่มแรกออกไปกลายเป็นว่าผลตอบรับดีมาก จากจุดเริ่มต้นที่เขียนหนังสือเล่มแรก จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ต้องเขียนหนังสือเล่มที่สอง เพราะหลาย ๆ องค์กร บอกว่าได้รับประโยชน์ในการปรับองค์กรเป็นดิจิทัล ทำให้เราเห็นว่าหนังสือเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับหลาย ๆ ธุรกิจ มากกว่าที่เราเป็นแค่บริษัทที่ปรึกษาเหมือนเดิม
จากหนังสือเล่มแรกมาสู่หนังสือเล่มที่สอง สาม และสี่
ต่อมาเมื่อเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจว่าทำไมต้องทำ Digital Transformation แต่จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ก็มาสู่หนังสือเล่มที่ 2 คือ Digital Transformation Canvas ซึ่งหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ คือ หนังสือก่อนที่มีภาวะโควิด-19
จนมาสู่ภาวะโควิด-19 และเข้าสู่ยุคที่ 2 ของการทำ Digital Transformation คือเรื่องที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องใช้ดิจิทัล เพื่อเร่งในการเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนเราก็อาจต้องล้มหายตายจาก แต่ถ้าไม่เป็นดิจิทัล ยากมากที่จะกลับมาเป็นผู้นำในธุรกิจได้ นี่คือยุคที่ 2 ของ Digital Transformation
ดังนั้น หนังสือเล่มที่ 3 จึงเกิดขึ้นมาเป็น Digital Transformation Compass เข็มทิศทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ที่จะบอกว่า ตั้งแต่ขั้นตอนแรกใน 5 หลักการใน Digital Transformation in Action จนถึงปลายทางที่เป็นโมเดลความสำเร็จของการทรานส์ฟอร์มทุกธุรกิจด้วย Digital Transformation Canvas แล้ว Step ที่ 1 – 99 ต้องทำอย่างไร เข็มทิศทรานส์ฟอร์มธุรกิจ หนังสือเล่มที่ 3 จึงออกมาในช่วงภาวะโควิด-19
อย่างไรก็ตามช่วงที่เราอยู่ในภาวะโควิด-19 ถึง 3 ปี จนถึงปี 2022 เราก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 แล้ว ยุคที่เราจะไม่ได้เรียกว่า Digital Transformation แต่จะเรียกว่า ยุคหลังทรานส์ฟอร์ม คือทุกธุรกิจเปลี่ยนอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องเป็นดิจิทัลแล้ว ไม่ต้องรอให้พร้อม แต่ทุกธุรกิจต้องทำแล้ว
ดังนั้น TRANSFORMER PLAYBOOK จะเป็นหนังสือที่เป็นเครื่องมือ เป็นคู่มือ เป็นผู้ช่วยของทุกท่าน ที่เป็นทั้งผู้บริหาร เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่ระดับ เล็ก กลาง ใหญ่ ใหญ่มาก จนไปถึง Startup แม้แต่องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือองค์ภาครัฐ นำแนวคิดของหลักการ TRANSFORMER PLAYBOOK ทั้งหมดจะมี 10 Workshop ตั้งแต่ Step ที่ 1 – 10 แต่ละ Workshop จะมีกรณีศึกษาตัวอย่าง 15 กรณีศึกษาระดับโลกและของไทย และ 9 Tips & Tricks สิ่งที่ต้องรู้ทันการทรานส์ฟอร์ม ทั้งหมดนี้อยู่ในแบบรูปเล่ม และแถมไปในลิงค์ที่อยู่ในหนังสือทั้ง 10 Workshop ที่ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดและนำไปปรับใช้ในองค์กรของทุกท่านได้ รวมถึงในรูปแบบ E-Book ที่เป็นบทความเพิ่มเติมทั้งหมดเกือบ 400 หน้า ในราคา 300 บาท ผมหวังว่าหนังสือ TRANSFORMER PLAYBOOK ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ 4 ของหนังสือชุด Digital Transformation นี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้กับทุกท่าน นักอ่านทุกท่าน ไม่มากก็น้อยที่เราจะต้องก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างแท้จริงไปด้วยกันในเศรษฐกิจดิจิทัล
ความแตกต่างระหว่างการมีผลงานหนังสือและไม่มีผลงานหนังสือ
ของผมจุดเริ่มต้นของการมีหนังสือ ไม่ได้มาจากการอยากมีหนังสือ แต่เราอยากจะบอกว่าสิ่งที่เรามี น่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นผมตั้งต้นจากการที่อยากให้ความรู้และประสบการณ์ของเราขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น จึงคิดว่าหนังสือน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดี ถามว่าทำไมไม่เป็น Blog มันเป็นคนละแบบกัน Blog หรือ YouTube มันคือการ Update ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่อะไรที่เป็นองค์ความรู้ อะไรที่เป็นประสบการณ์ คนจะนิยมเป็นรูปแบบของหนังสือไม่ว่าจะเป็นแบบรูปเล่มหรือ E-Book หนังสือจึงเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่เหมาะ
แรงบันดาลใจในการทำเล่มต่อ ๆ ไป
มาจากคนที่ได้อ่านหนังสือชุด Digital Transformation ก็จะมีจุดที่ถามว่า แล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นยังไง หรือคำถามที่เราพบบ่อย ๆ เราก็จะมาขยายความเป็นสาระเป็นหนังสือได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจกลุ่มผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายเรา ว่าเขาคือใคร อ่านแล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไร หรืออ่านแล้วเขาจะต่อยอดอะไรจากหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ได้บ้าง
ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานที่แน่นมาก มีขั้นตอนการเตรียมต้นฉบับอย่างไร
1. เริ่มจากคิดโครงหนังสือก่อน เราอยากพูดประเด็นไหน มีบทย่อยอะไรบ้าง
2. เรียบเรียงประเด็น เรียบเรียงแหล่งอ้างอิง เนื้อหาไหนที่เราจะเลือกมาใส่ จากเนื้อหาที่มีเป็นพันแล้วต้องคัดเหลือแค่หนึ่งร้อย เขียนเสร็จแล้วทิ้งอีกไม่รู้เท่าไร
3. พอเขียนต้นฉบับเสร็จ ต่อมาก็คือต้องมานั่งอ่านว่าจากศูนย์ถึงร้อยเป็นอย่างไรบ้าง อ่านเองก่อน อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ต้องมาเรียบเรียงใหม่อีกรอบ
4. อ่านแล้ว ใช้ได้แล้ว มันไม่น่าสนใจ ไม่น่าสนใจมี 2 ส่วน คือ ส่วนเนื้อหาขาดตรงนั้น ขาดตรงนี้ อีกส่วนคือ รูปแบบการนำเสนอ คือ การออกแบบ เราก็ต้องมีทีมออกแบบมาช่วยออกแบบตามที่เราต้องการนำเสนอ ให้เหมาะกับเนื้อหาและเหมาะกับผู้อ่าน
เล่มแรกใช้เวลาเตรียมต้นฉบับเกือบปี ส่วนเล่มสองใช้เวลาปีกว่า เพราะเกิดในช่วงที่ Covid กำลังมา มันเลยมีประเด็นว่า แล้วถ้า Covid มา มันส่งผลอะไรกับธุรกิจหรือผู้อ่านบ้าง เลยมีประเด็นนี้แทรก Update ขึ้นมา จนเรามั่นใจว่า เราออกหนังสือไป อย่างน้อย 2 – 3 ปี หนังสือจะไม่ Outdate หลักการยังคงใช้ได้อยู่
ใช้เวลาช่วงไหน ในการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม
อย่างแรกเลยต้องมีวินัย เพราะเราก็มีงานแน่นอยู่แล้ว เวลาส่วนตัว เวลาครอบครัวก็ต้องใช้ เราก็ต้องหาเวลาเพิ่ม คือ นอนเร็วขึ้น ตื่นให้เร็วขึ้น ภาษาของผมคือ เวลาอะไรที่ไร้สาระ เช่น ดูละคร ดูหนัง ดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ลดเวลาเหล่านั้นลง และออกกำลังกายให้มากขึ้น คือ งานเขียนเราต้องจมกันมัน เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง ชั่วโมงแรกมักคิดอะไรไม่ออกหรอกครับ แต่ชั่วโมงที่ 2 - 3 มันจะไหล
เล่มแรกที่เขียน ผมเลือกใช้เวลาตอนดึก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ชีวิตพังเลย พอเราจมตอนเที่ยงคืนถึงตีสาม เราทำตอนนั้นได้ แต่พออีกวันเราจะแฮงค์เขียนต่อไม่รู้เรื่อง ต้องเว้นการเขียนไป 3-4 วัน ถึงจะกลับมา Fresh ใหม่
ผมเลยต้องมาปรับตารางชีวิต เป็นนอนก่อนสี่ทุ่ม ตื่นประมาณตีสี่ตีห้า ช่วงแรก ๆ จะเขียนไม่ค่อยออก แต่พอร่างกายมีวินัย ก็จะเป็นนาฬิกาชีวิต ตีสี่ตีห้าตื่นมากินกาแฟ แล้วก็มานั่งค่อย ๆ เขียน เวลาพีคสุดผมจะอยู่ที่ตีห้าถึงเจ็ดโมง หลังจากเจ็ดโมง ถ้าเขียนไม่ออกก็ไม่ต้องเขียน ก็โน้ตประเด็นที่ต้องการเขียนไว้ แล้วก็ไปออกกำลังกาย ทำงาน ตอนเย็นกลับมา ไม่ต้องดันทุรังเขียนต่อ พักผ่อน แล้วรีบนอน ตื่นมาตีสี่ตีห้ามาเริ่มกันใหม่
การเขียนหนังสือ ก็เหมือนการวิ่งมาราธอน เราไม่ได้วิ่งร้อยเมตรแล้วจบ มันต้องวิ่งหลายสิบกิโลเมตร ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ เราต้องรู้ชัดว่าเรากำลังวิ่งไปเรื่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ แล้วสุดท้าย มันจะเป็นความภูมิใจของชีวิตว่า นี่คือผลงานชีวิตเรา
ติดใจการเขียนหนังสือไหม
ไม่ได้ติดใจการเขียน แต่พอเราได้ Feedback มา มันทำให้เรามีกำลังใจ ว่าพอผู้อ่านได้หนังสือไป อย่างแรกเลยเขาบอกว่า
คือ Feedback แบบนี้แหละที่เป็นกำลังใจชีวิตเรา เงินซื้อไม่ได้ อย่างที่บอกพอเรารู้ว่า
1. คอนเทนต์เราคืออะไร
2. กลุ่มเป้าหมายเราคือใคร
3. ประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับคืออะไร
เมื่อสอดคล้องกัน ก็เหมือนเป็นการส่งพลังบวกให้กับชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้เหมือนกับเป็นแรงบันดาลใจครั้งใหม่ ถ้าเราจะออกหนังสือใหม่ เราอยากออกเพราะเราได้สร้างประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ใช่อยากออกเพราะต้องเขียนหนังสืออีก 10 เล่ม
สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่อยากเขียนหนังสือ