619 จำนวนผู้เข้าชม |
คุณนิพันธ์ ทารีมุกข์ หรือคุณบอย เป็นเจ้าของผลงานหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO ที่ติดอันดับ Best Seller มายาวนานทั้ง 2 เล่ม แถมยังได้รับความนิยมจากนักอ่านถึงขนาดต้องพิมพ์ซ้ำ ถึง 21 ครั้ง และเป็นนักเขียนต้นแบบอีกท่านหนึ่งที่มากความสามารถ จากความฝันที่อยากเป็นนักเขียนก็สามารถทำได้สำเร็จอย่างงดงาม สำนักพิมพ์วิชหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะทำให้คุณผู้อ่านที่มีความฝันอยากมีผลงานเขียน ได้รับแรงบันดาลใจและได้เห็นแนวคิด เห็นกระบวนการ และอยากลงมือเขียนหนังสือให้สำเร็จได้สักเล่มดูบ้างนะคะ
บทบาทหน้าที่หลักช่วงที่เขียนหนังสือหักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO
ตอนที่เขียน หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO ช่วงนั้นหน้าที่มีอยู่ 2 อย่างที่ต้องทำคู่กันครับ 1. คือเป็น Technical Consultant หรือที่ปรึกษาทางเทคนิคของบริษัทแห่งหนึ่ง และ 2. คือการขายของไปด้วยขณะให้คำปรึกษา พอนำทั้ง 2 อย่างมารวมกัน สรุปสั้น ๆ เลยก็คือ ผมมีอาชีพเป็น Salesman หรือ พนักงานขายครับผม (ฮา) ปัจจุบันทำมานานก็อยู่ในระดับบริหารแล้ว !
แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO
ที่จริงแล้ว แรงบันดาลใจของทั้ง 2 เล่ม มาจากจุดเดียวกัน คือ อยากเป็นนักเขียน ตอนนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือของคุณ Dan Brown ผู้เขียน รหัสลับดาวินชี, เทวากับซาตาน และ เรื่องอื่น ๆ เลยเกิดความรู้สึกที่ว่า ทำไมนักเขียนคนนี้เขียนได้เก่งจัง อนาคตเราอยากเขียนหนังสือเก่ง ๆ แบบนี้บ้าง หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ ก็เลยเกิดขึ้นครับ
ภาพรวมเนื้อหาของหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO
ภาพรวมของหนังสือทั้ง 2 เล่ม เขียนคนละวัตถุประสงค์กันครับ เล่มแรก ‘หักมุม 1.0’ เล่มนี้เป็นเรื่องสั้น ในเล่มมีทั้งหมด 12 ตอนด้วยกันที่จบแบบหักมุมครับ จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ ความสนุกในการอ่าน สมัยก่อนผมชอบอ่านหนังสือที่เป็นแนวหักมุม มันทำให้เราลุ้นและพยายามเดาตอบจบของเรื่องในแต่ละตอน ผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่สนุกดี และแต่ละตอนก็ไม่ยาวมาก ค่อย ๆ ทยอยอ่านได้ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านเรื่องยาว ๆ หรืออยากอ่านอะไรเพลิน ๆ ได้คิดตามไปด้วยสนุก ๆ ครับ ซึ่งในแต่ละตอน ผมได้ซ่อนเนื้อหาสาระบางอย่างไว้ (แม้มันออกจะดูไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ก็เถอะ เอิ่ม ?!)
ส่วนเล่มที่ 2 คือ ‘หักมุม ZERO’ เล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนจากเรื่องจริง เป็นประวัติของผมเอง ในการตามล่าความฝัน ในการอยากไปเห็นหิมะสักครั้งในชีวิต เงินก็ไม่มี (สมัยก่อน) แต่ความฝันมันก็ช่างชัดเจนเหลือเกิน ยังไงก็อยากไปเห็นสักครั้งให้ได้ เรื่องวุ่น ๆ หลังจากนั้น มันเลยเกิดขึ้นครับ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความฝัน หรือ กำลังมองหาอะไรสักอย่างที่อยากทำให้สำเร็จ ข้างในนั้นจะคล้ายเป็นประสบการณ์ที่ผมอยากจะแชร์ว่า ตราบใดที่เราไม่ละทิ้งความพยายาม การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทางที่ดีก็จะเกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้เหมือนจะเป็นหลักฐานที่บ่งบอกอะไรประมาณนั้น และทุกคนสามารถนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเล่ม ไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ รับรองว่า ‘เลิศ !!’ แน่นอน
ด้วยงานหลักและภารกิจหลักที่มีอยู่มากมาย มีเทคนิคจัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนแต่ละเล่มอย่างไร เล่มแรกและเล่มที่สองการจัดการเรื่องงานเขียนแตกต่างกันไหม
การจัดสรรเวลาของทั้ง 2 เล่ม เหมือนกันครับ นั่นคือ ผมจะหาร้านกาแฟที่ชอบบรรยากาศที่ใช่ และใช้เวลาว่างหลังเลิกงานไปที่ร้านแห่งนั้นและค่อย ๆ เขียน (พร้อมกับจิบกาแฟดำร้อน ๆ ที่ส่งกลิ่นหอม ๆ ตามไปด้วย) ผมรู้สึกว่าในการเขียนเรื่องแต่ละเรื่อง ‘อารมณ์’ ในการเขียนเป็นสิ่งสำคัญ บางวันอารมณ์ดีก็อาจจะเขียนได้มากหน่อย บางวันอารมณ์ไม่ได้ก็อาจจะเขียนได้น้อยหน่อยหรือไม่ได้เลยก็มี..
บรรยากาศในการเขียน ณ ขณะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ !
โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่เป็นวันหยุด อันนี้ก็จะเป็นวันที่เขียนได้แบบสบาย ๆ แต่แน่นอน อย่าลืมอุดหนุนของในร้านเขาด้วยนะครับ ไม่งั้นอาจจะโดนรังสีอำมหิตจากคนขายแผ่ขยายออกมาได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น บรรยากาศดี ๆ คงมีกระเจิงแน่นอน กลายเป็นบรรยากาศมาคุมาแทน อันนี้ก็ต้องจัดสรรกันดี ๆ (ฮา)
ในกระบวนการการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียน และการวางแนวทางในการออกแบบหนังสือทั้ง 2 เล่ม
ทั้ง 2 เล่ม แนวการเขียนจะต่างกันนิดครับ กล่าวคือ ถ้าเป็นเรื่องสั้นหักมุมก็ต้องหา ‘พล๊อต’ ที่สนุกและแปลกใหม่มาเขียน หาทางบรรยายที่จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านจับจุดไม่ได้ และ มี Surprise ที่เป็นทีเด็ดคอยปิดจบในตอนท้าย ส่วนตัว ผมอยากเขียนให้มีข้อคิดดี ๆ สอดแทรกอยู่ในบทความนั้นด้วย รวมไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่าวถึงก็ต้องทำการบ้านเป็นอย่างดี ทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดและแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนมีที่มาที่ไป
ทั้งนี้เพื่อให้คนอ่านได้ความรู้ในระหว่างที่อ่านไปด้วย เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการอ่านบทความในแต่ละเรื่อง
‘หนังสือแต่ละเล่มมันควรจะทิ้งตะกอนอะไรบางอย่างไว้ให้กับคนอ่านได้คิดตาม’ ผมมักจะเริ่มต้นเขียนด้วยวิธีคิดแบบนั้น
ส่วนเรื่องยาวใน ‘หักมุม ZERO’ ผมจะวางโครงเรื่องทั้งหมดในการเขียนไว้ก่อน เรื่องราวจะเล่าจากจุดไหนไปจุดไหน จะมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องราวจะมีการดำเนินไปอย่างไร และ จุดสิ้นสุดจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เราได้เห็นกรอบในการเขียนได้ชัด เห็นถึงน้ำหนักในแต่ละเรื่องว่ามันมากน้อยไปไหม พยายามเฉลี่ยในแต่ละตอนให้สมดุลกัน
แน่นอนว่าในเรื่องราวเหล่านั้น อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านบ้างก็ต้องไม่ลืมที่จะใส่ไว้ และด้วยความที่เป็นเรื่องยาว หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างของนักเขียนเลยก็คือ จะทำอย่างไรให้ตอนจบของแต่ละตอนย่อยมีความสนุก ทำให้คนอ่านรู้สึกตื่นเต้นและเกิดความรู้สึกที่อยากจะอ่านต่อให้ได้ เหมือนเราดูหนังซีรี่ย์ในทีวี ที่มักจะทำให้เราหยุดดูไม่ได้ อยากจะดูต่อไปเรื่อย ๆ อะไรประมาณนั้น นั่นคือความยากในการเขียน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย แต่เราก็ต้องพยายาม
สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไร
ถ้าสิ่งนั้นเป็น ‘ความฝัน’ ก็จงลงมือทำ และ อย่ายอมแพ้ !
ประสบการณ์จากการทำอะไรซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะสอนเราให้เราเรียนรู้และเกิดการพัฒนาเอง และสุดท้ายถ้ามันเป็นความชอบ ผมเชื่อว่าเราจะทำได้ และ ทำได้ดีกว่าคนอื่น ๆ ด้วย !
ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนั้นเสมอไปไหม แต่ผมรู้สึกว่าตัวผมเอง ก่อนที่จะเป็นนักเขียน ผมก็เป็นนักอ่านมาก่อน การที่เราอ่านหนังสือมาเรื่อย ๆ ผลึกจากการอ่านมันก็คงจะตกอยู่ในก้นบึ้งของความคิดเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และวันหนึ่งวันที่เราต้องการเรียกมันมาใช้ มันก็คงค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวกันขึ้นมา จนกลายมาเป็นแนวเขียนของเราในที่สุด
ดังนั้น ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่าเราต้องหัดที่จะ ‘สังเกต’ ไว้ครับ คอยสังเกตคนที่เขียนเก่ง ๆ หรือเป็น Idol ของเรา ศึกษาดูว่าเขามีวิธีการเขียนหรือเล่าเรื่องอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาโดดเด่นหรือเป็นทีเด็ดของเขาในการเขียน ไม่ต้องจำถึงขั้นวิธีเขียนมานะครับ ซึมซับและปล่อยมันออกมาในแบบของเรา เดียวมันก็จะค่อย ๆ หล่อหลอมกลายมาเป็นแนวทางของเราเอง..
‘จงเขียน เขียน เขียน แล้วก็เขียน !’
สำคัญที่สุดคือ อย่าเพิ่งถอดใจยอมแพ้ครับ นักเขียนบางท่านใช้เวลาในการเขียน 3 ปี 5 ปี ฯลฯ กว่าจะเขียนหนังสือมาได้ในแต่ละเล่ม ดังนั้น ค่อย ๆ ทำไป เหนื่อยก็พักมีกำลังก็ลุยต่อ หาคนใกล้ตัวมาคอยให้คำแนะนำเราบ้าง วันหนึ่งมันก็จะประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างและปรากฏตัวออกมาเอง (หนังสือเล่มแรกของผมก็ถือกำเนิดมาจากอะไรประมาณนี้)
ตลอดระยะเวลายาวนานในการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม ผมมักจะถามตัวเองเสมอ ๆ เวลาที่เขียน ‘หนังสือเล่มนี้จะให้อะไรกับคนอ่าน ?!’ ถ้าคำตอบนี้ชัดและมันเป็นความฝัน ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวครับ ลุย !! (ฮา)
…
ปล.1 เหมือนอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ใน หนังสือ ‘หักมุม ZERO’..
“หน้าที่ของความฝันไม่ใช่การดำรงอยู่ แต่เป็นการนำทางแล้วจางหายไป เพื่อกลายเป็นความจริง”
“Dream is not meant only to just exist. But is guidance that one day will simply turn into reality”
ถ้าการเป็นนักเขียนของเราคือความฝัน เราก็แค่ทำให้มันเป็นความจริงครับ ง่าย ๆ แค่นั้น เป็นกำลังใจให้ครับ
ปล.2 อย่าลืมว่าท้ายที่สุดของที่สุด เรายังมี บก. ที่จะคอยให้คำแนะนำและดูแลต้นฉบับให้เราด้วยนะ เป็นผู้ช่วยคนสำคัญมีอะไรปรึกษาได้เลยครับ (ฮา)
นิพันธ์ ทารีมุกข์ (บอย)