ข้อควรระวัง เรื่องการจัดทำตำรา/วิจัย เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ

5494 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อควรระวัง เรื่องการจัดทำตำรา/วิจัย เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ

บทความก่อนหน้านี้ สำนักพิมพ์วิช ได้นำเสนอภาพรวมประเด็น เรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ ระดับ ผศ. รศ. หรือ ศ. กันไปแล้ว ว่าผลงานที่ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการส่วนมากจะเป็นตำรา/วิจัย (อ่านย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/43RzfBRXX) ครั้งนี้เรามาดูกันว่า ข้อควรระวัง เรื่องการจัดทำตำรา/วิจัย เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ นั้นมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้คณาจารย์ทุกท่านนำไปใช้ระหว่างเขียนผลงานได้ค่ะ

ในแวดวงการเขียนและจัดทำตำรา/วิจัย เพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น งานต้นฉบับ นับว่าเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญมาก กล่าวคือ ถ้าต้นฉบับถูกต้อง เรียบร้อยสุดชีวิตแล้ว กระบวนการต่อไป ก็จะพบปัญหาได้น้อย หรือแก้ไขน้อยที่สุด ซึ่งครั้งที่ได้ขอความรู้จากศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ เจ้าของเพจ เขียนผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ยังแนะนำถึง ข้อควรระวัง เรื่องการจัดทำตำรา เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ไว้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การวิเคราะห์เสนอความรู้ใหม่ ๆ กล่าวคือ ผลงานที่อาจารย์เขียนมีความรู้อะไรใหม่ ๆ ในหนังสือตำราเล่มนั้นบ้าง ไม่ใช่เพียงอ้างอิงผลงานผู้อื่น แล้วสรุป แบบนี้จะไม่ค่อยผ่านการพิจารณา

ประเด็นที่สอง ต้องมีการสอดแทรกความคิดเห็นของอาจารย์ ประสบการณ์ หรืองานวิจัยของอาจารย์ลงไปบ้าง ว่าเล่มนี้มันเป็นไปตามผลงานวิจัยของใคร ยิ่งเป็นของตัวผู้เขียนเองได้ยิ่งดี

ประเด็นที่สาม เรื่องการอ้างอิงเอกสาร พึงระวังว่าเอกสารอ้างอิงไม่ควรเก่าเกินไป หรือกรณีนำเนื้อหามาใช้ แล้วไม่ได้อ้างอิงเลย ก็จะนำไปสู่การผิดจรรยาบรรณ คือ คัดลอกผลงานทางวิชาการ ประเด็นนี้คือสิ่งที่ต้องพึงระวังมาก ๆ หากมีคนเจอ หรือมีคนร้องเรียน จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังที่สุดในการขอตำแหน่งทางวิชาการ

ส่วนข้อควรระวัง เรื่องการเขียนงานวิจัย เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ

ประเด็นที่หนึ่ง คือกระบวนการวิจัยบางขั้นตอนผิด หรือไม่เหมาะสมกับงานที่เราใช้ก็จะไม่ผ่านการพิจารณา
ประเด็นที่สอง ผลการวิจัยไม่ตอบวัตถุประสงค์ครบทุกข้อ ประเด็นนี้ย่อมไม่ผ่านการพิจารณา
ประเด็นที่สาม ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย ผลการวิจัย 4 เรื่องนี้ สอดคล้องไปทางเดียวกันหรือไม่
ประเด็นที่สี่ ผลงานวิจัยต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง หากนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็จะไม่ผ่านการพิจารณา ยิ่งยื่นขอตำแหน่งที่สูงขึ้น ข้อนี้ยิ่งมีความสำคัญ

สุดท้าย เรื่องที่อาจารย์หลายท่านมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อการพิจารณาผลงานไม่แพ้ข้อควรระวังข้างต้นที่กล่าวมา คือ รายละเอียดเชิงงานบรรณาธิการ เรื่องรูปแบบการพิมพ์ การออกแบบปก คำผิด หรือแม้กระทั่งเลขข้อที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็อาจทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิหงุดหงิดในการตรวจ และเป็นเหตุให้ต้องกลับมาแก้ไข ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายตามมาได้

ดังนั้น ผลงานตำราหรือวิจัย ที่จะยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ควรเป็นเล่มที่ 1.เป็นระเบียบเรียบร้อยสมบูรณ์ 2.ควรออกแบบปกให้สวยงาม 3.จัดรูปแบบการพิมพ์ให้ดีน่าอ่าน ไม่ควรมีคำผิด ซึ่งหากอาจารย์เลือกพิมพ์กับโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ ที่มีทีมบรรณาธิการ ก็จะมีทีมช่วยเข้มงวดกับเรื่องพวกนี้พอสมควร แต่ถ้าไม่ได้ไปโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ ก็ต้องรับผิดชอบรายละเอียดงานเชิงบรรณาธิการเอง ซึ่งถ้าส่งผลงานที่ไม่เรียบร้อยไป ย่อมต้องระวังงานจะไม่ผ่านการพิจารณา

โดยรวมแล้วเรียกว่าเป็นข้อควรระวัง ที่อาจารย์ทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้ในการเขียนผลงานทางวิชาการได้มากเลยนะคะ และอย่างที่เกริ่นไว้ในบทก่อนหน้าค่ะ ว่าเชิงรายละเอียดของการยื่นผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น ต้องดูตามระเบียบการของแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ว่าแต่ละระดับที่ยื่นขอตำแหน่ง ต้องส่งเอกสารและผลงานอะไรบ้าง ตอนต่อไปจะสรุป เรื่อง Peer Reviewer และผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการฯ มาเป็นข้อมูลไว้ให้ได้อ่านกันต่อ รอติดตามนะคะ

สำนักพิมพ์วิช ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ทุกท่าน สร้างสรรค์ผลงาน และยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพของอาจารย์เอง และเป็นความรู้ให้กับแวดวงการศึกษาไทยได้สำเร็จ สำนักพิมพ์วิช และทีมบรรณาธิการมือชีพ ยินดีให้คำปรึกษา พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำหนังสือ

--------------------------------------
ดูตัวอย่างผลงานคุณภาพของเราได้ที่ https://bit.ly/3gy0hrS
ยินดีให้คำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โทร : 063 362 8955 หรือ Line : @wishbooks
----------------------------------------
บทสรุป อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์
โดย ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ
กับบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิช  คุณจารุวรรณ เวชตระกูล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้